วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กระจกตาอักเสบอีกโรคร้ายที่มากับน้ำท่วม

กระจกตาอักเสบอีกโรคร้ายที่มากับน้ำท่วม

น้ำท่วมยังคงเป็นปัญหาที่เราต้องเผชิญ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการที่เราต้องอยู่ในภาวะที่มีน้ำสกปรกคือเรื่องการติดเชื้อในส่วนต่างๆ ของร่างกาย โรคตาที่พบบ่อยมากๆ ในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นตาแดง หรือเยื่อบุตาอักเสบจากไวรัสที่ระบาดได้ในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มีน้ำท่วมขัง

อีกกลุ่มโรคหนึ่งซึ่งเป็นการติดเชื้อเช่นเดียวกันแต่มักรุนแรงกว่าเยื่อบุตาอักเสบจากไวรัส และเราจะกล่าวถึงกันวันนี้ คือ โรคกระจกตาอักเสบติดเชื้อ

กระจกตาคือส่วนด้านหน้าสุดของตาเราซึ่งมีลักษณะใส คนไทยจะเรียกกระจกตาว่าตาดำเนื่องจากการที่กระจกตาใสทำให้เรามองเห็นม่านตาซึ่งมีสีเข้มได้ การติดเชื้อที่กระจกตานั้นจะรุนแรงกว่าเยื่อบุตาอักเสบอาจมีผลทำให้การมองเห็นแย่ลงปวดตามากหรือถ้ารุนแรงมากอาจทำให้กระจกตาทะลุหรือสูญเสียตาได้เลยทีเดียว

สาเหตุของกระจกตาอักเสบในช่วงน้ำท่วม มักเกิดจากการติดเชื้อต่างๆ เช่น แบคทีเรียไวรัสเชื้อราหรือโปรโตซัวโดยการติดเชื้อในช่วงภาวะน้ำท่วมนั้นอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ได้ดังนี้

-จากการสัมผัสโดนสิ่งสกปรก เช่น น้ำสกปรกที่ปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลต่างๆ
-จากการที่มีสิ่งแปลกปลอม หรือสารเคมีเข้าตา
-จากการได้รับการกระทบกระเทือนทิ่มแทง หรือเสียดสีถูกกระจกตา เช่น โดนกิ่งไม้ใบไม้ทิ่มตาหรือของมีคมอื่นๆ บาดตา


นอกจากนั้นโดยปกติกระจกตาติดเชื้ออาจเกิดจากการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์นานๆ โรคตาแห้งรุนแรงหนังตาปิดไม่สนิทขนตาทิ่มแทงตา ซึ่งทำให้เกิดแผลและการติดเชื้อตามมา และที่พบได้บ่อย คือการติดเชื้อจากการใส่คอนแทคเลนส์ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ

อาการและอาการแสดงของกระจกตาอักเสบ

ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาเคืองตากลัวแสงน้ำตาไหลตาแดงมากตาบวมตาพร่ามัว มักพบมีขี้ตาสีเหลืองเขียวปริมาณมากอาจเห็นจุดขาวอยู่ที่กระจกตา หรือมีฝ้าที่กระจกตาถ้ารุนแรงมากอาจเห็นหนองในช่องหน้าม่านตา ลืมตาไม่ขึ้นโดยส่วนมากมักเป็นที่ตาเพียงข้างเดียว

 

ในกรณีที่การอักเสบทุเลาลงแล้ว และเหลือแต่แผลเป็นที่กระจกตาดำจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการตามัวถ้าเป็นมากอาจทำให้การมองเห็นแย่ลง ถ้าสงสัยว่าจะมีภาวะกระจกตาอักเสบควรรีบพบจักษุแพทย์ทันทีเนื่องจากโรคนี้รุนแรงกว่า และถ้ารักษาได้เร็วผลการรักษาจะดีกว่า

การรักษาโรคกระจกตาอักเสบ

เมื่อจักษุแพทย์ตรวจพบว่ากระจกตามีการอักเสบติดเชื้อถ้ามีประวัติสิ่งแปลกปลอมร่วมด้วยจักษุแพทย์จะทำการเขี่ยสิ่งแปลกปลอมออกร่วมกับอาจล้างตาเพิ่มด้วยน้ำเกลือเพื่อล้างเศษสิ่งแปลกปลอมเล็กๆ

ผู้ป่วยอาจได้รับการขูดผิวกระจกบริเวณที่ติดเชื้อเพื่อนำไปส่งตรวจหาสาเหตุโดยการเพาะเชื้อ เนื่องจากสาเหตุอาจเกิดได้ทั้งแบคทีเรียเชื้อราหรือเชื้อโรคอื่นๆ แต่แพทย์มักจะให้การรักษาเริ่มต้นก่อนตามประวัติเช่น อุบัติเหตุโดนอะไรมาหรือมีการใช้คอนแทคเลนส์ร่วมด้วยหรือไม่ เป็นต้น และพิจารณาสิ่งที่ตรวจพบว่าควรให้การรักษาอย่างไร

ถ้าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจะได้รับยาปฏิชีวนะชนิดหยอดซึ่งอาจต้องหยอดถี่มาก เช่น ทุกชั่วโมงในระยะแรก และมีการประเมินการตอบสนองต่อการรักษาอย่างใกล้ชิด ถ้าเป็นมากอาจจำเป็นต้องนอนพักที่โรงพยาบาล เนื่องจากอาจมีการเปลี่ยนแปลงแย่ลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นอาจได้รับยาลดปวดร่วมด้วย

ถ้าสงสัยว่าเป็นการติดเชื้อราก็จะพิจารณาให้ยาหยอดฆ่าเชื้อรา และอาจได้ยารับประทานกลุ่มฆ่าเชื้อรา ร่วมด้วย โดยเชื้อรามักจะรักษายากกว่าและตอบสนองช้ากว่าการติดเชื้อแบคทีเรีย

ถ้าอาการดีขึ้นจะพิจารณาลดยาลงโดยบริเวณที่เคยติดเชื้ออาจเกิดเป็นแผลเป็นถาวรบดบังการมองเห็นทำให้การมองเห็นแย่ลงได้ โดยเฉพาะในรายที่เป็นตรงกลางกระจกตา หรือแผลมีขนาดใหญ่ซึ่งอาจต้องได้รับการเปลี่ยนถ่ายกระจกตาเพื่อให้การมองเห็นดีขึ้นในภายหลัง

การป้องกัน


หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำที่สกปรกถ้ามีสิ่งแปลกปลอม หรือน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาด ถ้ายังมีอาการเคืองตาน้ำตาไหลมากหรือสงสัยว่ายังมีสิ่งแปลกปลอมหลงเหลือ หรือมีแผลที่กระจกตา ตาแดงระคายเคืองแนะนำให้พบแพทย์โดยเร็ว

อย่างไรก็ดี การระมัดระวังตัวเราในภาวะน้ำท่วมระวังไม่ให้น้ำเข้าตาเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากในน้ำที่ท่วมขังเต็มไปด้วยเชื้อโรคนานาชนิด และเป็นบ่อเกิดของโรคติดเชื้อต่างๆ ทั้งในตา และส่วนอื่นๆ ขอให้ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงจะได้มีกำลังสู้กับภัยอื่นๆ จากน้ำท่วมในช่วงเวลานี้ค่ะ

ที่มาข้อมูล: Laser Vision International LASIK Center
www.laservisionthai.com

โดย: ทีมข่าวไลฟ์สไตล์

29 พฤศจิกายน 2554, 10:00 น.

http://m.thairath.co.th/content/life/219404

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น