วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กระจกตาอักเสบอีกโรคร้ายที่มากับน้ำท่วม

กระจกตาอักเสบอีกโรคร้ายที่มากับน้ำท่วม

น้ำท่วมยังคงเป็นปัญหาที่เราต้องเผชิญ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการที่เราต้องอยู่ในภาวะที่มีน้ำสกปรกคือเรื่องการติดเชื้อในส่วนต่างๆ ของร่างกาย โรคตาที่พบบ่อยมากๆ ในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นตาแดง หรือเยื่อบุตาอักเสบจากไวรัสที่ระบาดได้ในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มีน้ำท่วมขัง

อีกกลุ่มโรคหนึ่งซึ่งเป็นการติดเชื้อเช่นเดียวกันแต่มักรุนแรงกว่าเยื่อบุตาอักเสบจากไวรัส และเราจะกล่าวถึงกันวันนี้ คือ โรคกระจกตาอักเสบติดเชื้อ

กระจกตาคือส่วนด้านหน้าสุดของตาเราซึ่งมีลักษณะใส คนไทยจะเรียกกระจกตาว่าตาดำเนื่องจากการที่กระจกตาใสทำให้เรามองเห็นม่านตาซึ่งมีสีเข้มได้ การติดเชื้อที่กระจกตานั้นจะรุนแรงกว่าเยื่อบุตาอักเสบอาจมีผลทำให้การมองเห็นแย่ลงปวดตามากหรือถ้ารุนแรงมากอาจทำให้กระจกตาทะลุหรือสูญเสียตาได้เลยทีเดียว

สาเหตุของกระจกตาอักเสบในช่วงน้ำท่วม มักเกิดจากการติดเชื้อต่างๆ เช่น แบคทีเรียไวรัสเชื้อราหรือโปรโตซัวโดยการติดเชื้อในช่วงภาวะน้ำท่วมนั้นอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ได้ดังนี้

-จากการสัมผัสโดนสิ่งสกปรก เช่น น้ำสกปรกที่ปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลต่างๆ
-จากการที่มีสิ่งแปลกปลอม หรือสารเคมีเข้าตา
-จากการได้รับการกระทบกระเทือนทิ่มแทง หรือเสียดสีถูกกระจกตา เช่น โดนกิ่งไม้ใบไม้ทิ่มตาหรือของมีคมอื่นๆ บาดตา


นอกจากนั้นโดยปกติกระจกตาติดเชื้ออาจเกิดจากการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์นานๆ โรคตาแห้งรุนแรงหนังตาปิดไม่สนิทขนตาทิ่มแทงตา ซึ่งทำให้เกิดแผลและการติดเชื้อตามมา และที่พบได้บ่อย คือการติดเชื้อจากการใส่คอนแทคเลนส์ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ

อาการและอาการแสดงของกระจกตาอักเสบ

ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาเคืองตากลัวแสงน้ำตาไหลตาแดงมากตาบวมตาพร่ามัว มักพบมีขี้ตาสีเหลืองเขียวปริมาณมากอาจเห็นจุดขาวอยู่ที่กระจกตา หรือมีฝ้าที่กระจกตาถ้ารุนแรงมากอาจเห็นหนองในช่องหน้าม่านตา ลืมตาไม่ขึ้นโดยส่วนมากมักเป็นที่ตาเพียงข้างเดียว

 

ในกรณีที่การอักเสบทุเลาลงแล้ว และเหลือแต่แผลเป็นที่กระจกตาดำจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการตามัวถ้าเป็นมากอาจทำให้การมองเห็นแย่ลง ถ้าสงสัยว่าจะมีภาวะกระจกตาอักเสบควรรีบพบจักษุแพทย์ทันทีเนื่องจากโรคนี้รุนแรงกว่า และถ้ารักษาได้เร็วผลการรักษาจะดีกว่า

การรักษาโรคกระจกตาอักเสบ

เมื่อจักษุแพทย์ตรวจพบว่ากระจกตามีการอักเสบติดเชื้อถ้ามีประวัติสิ่งแปลกปลอมร่วมด้วยจักษุแพทย์จะทำการเขี่ยสิ่งแปลกปลอมออกร่วมกับอาจล้างตาเพิ่มด้วยน้ำเกลือเพื่อล้างเศษสิ่งแปลกปลอมเล็กๆ

ผู้ป่วยอาจได้รับการขูดผิวกระจกบริเวณที่ติดเชื้อเพื่อนำไปส่งตรวจหาสาเหตุโดยการเพาะเชื้อ เนื่องจากสาเหตุอาจเกิดได้ทั้งแบคทีเรียเชื้อราหรือเชื้อโรคอื่นๆ แต่แพทย์มักจะให้การรักษาเริ่มต้นก่อนตามประวัติเช่น อุบัติเหตุโดนอะไรมาหรือมีการใช้คอนแทคเลนส์ร่วมด้วยหรือไม่ เป็นต้น และพิจารณาสิ่งที่ตรวจพบว่าควรให้การรักษาอย่างไร

ถ้าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจะได้รับยาปฏิชีวนะชนิดหยอดซึ่งอาจต้องหยอดถี่มาก เช่น ทุกชั่วโมงในระยะแรก และมีการประเมินการตอบสนองต่อการรักษาอย่างใกล้ชิด ถ้าเป็นมากอาจจำเป็นต้องนอนพักที่โรงพยาบาล เนื่องจากอาจมีการเปลี่ยนแปลงแย่ลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นอาจได้รับยาลดปวดร่วมด้วย

ถ้าสงสัยว่าเป็นการติดเชื้อราก็จะพิจารณาให้ยาหยอดฆ่าเชื้อรา และอาจได้ยารับประทานกลุ่มฆ่าเชื้อรา ร่วมด้วย โดยเชื้อรามักจะรักษายากกว่าและตอบสนองช้ากว่าการติดเชื้อแบคทีเรีย

ถ้าอาการดีขึ้นจะพิจารณาลดยาลงโดยบริเวณที่เคยติดเชื้ออาจเกิดเป็นแผลเป็นถาวรบดบังการมองเห็นทำให้การมองเห็นแย่ลงได้ โดยเฉพาะในรายที่เป็นตรงกลางกระจกตา หรือแผลมีขนาดใหญ่ซึ่งอาจต้องได้รับการเปลี่ยนถ่ายกระจกตาเพื่อให้การมองเห็นดีขึ้นในภายหลัง

การป้องกัน


หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำที่สกปรกถ้ามีสิ่งแปลกปลอม หรือน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาด ถ้ายังมีอาการเคืองตาน้ำตาไหลมากหรือสงสัยว่ายังมีสิ่งแปลกปลอมหลงเหลือ หรือมีแผลที่กระจกตา ตาแดงระคายเคืองแนะนำให้พบแพทย์โดยเร็ว

อย่างไรก็ดี การระมัดระวังตัวเราในภาวะน้ำท่วมระวังไม่ให้น้ำเข้าตาเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากในน้ำที่ท่วมขังเต็มไปด้วยเชื้อโรคนานาชนิด และเป็นบ่อเกิดของโรคติดเชื้อต่างๆ ทั้งในตา และส่วนอื่นๆ ขอให้ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงจะได้มีกำลังสู้กับภัยอื่นๆ จากน้ำท่วมในช่วงเวลานี้ค่ะ

ที่มาข้อมูล: Laser Vision International LASIK Center
www.laservisionthai.com

โดย: ทีมข่าวไลฟ์สไตล์

29 พฤศจิกายน 2554, 10:00 น.

http://m.thairath.co.th/content/life/219404

 

วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เอกซเรย์ถุงยังชีพ ของบริจาคประชานิยมเมืองจมน้ำ


เอกซเรย์ถุงยังชีพ ของบริจาคประชานิยมเมืองจมน้ำ

เกิดเหตุภัยธรรมชาติ หรือประชาชนได้รับความยากลำบาก คนไทยด้วยกันยังไงก็ไม่ทิ้งกันอยู่แล้ว อย่างในช่วงนี้เกิดมหาอุทกภัยเรื้อรังข้ามเดือน และดูเหมือนจะข้ามปี การช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยจึงมากขึ้น และพยายามเข้าถึงทุกพื้น ซึ่งของบริจาคยอดฮิตที่ติดไม้ติดมือนำไปช่วยเหลือชาวบ้านก็คือถุงยังชีพ ที่บรรจุสิ่งของที่จำเป็นสำหรับอุปโภค และบริโภค วันนี้ 'ไทยรัฐออนไลน์' เลยขอเปิดถุงยังชีพยอดฮิตที่ถูกแจกจ่ายไปตามที่ต่างๆ มาดูกัน ว่าข้างในถุงนั้น มันมีอะไรบ้าง 

ถุงยังชีพพระราชทาน


ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ใดก็ตาม หากพสกนิกรชาวไทย เกิดทุกข์ยาก ทั้งจากภัยธรรมชาติและความยากจน ถุงพระราชทานใบนี้ก็มักถูกแจกจ่ายสู่ทุกครัวเรือนอยู่เสมอ  บางครั้งก็สงสัยว่าภายในถุงยังชีพพระราชทานใบนี้มีอะไร และน้ำท่วมครั้งนี้ภายในถุงพระราชทานก็จัดสรรยาต่างๆ ที่จำเป็นกับการรักษาขั้นตอนเพื่อบรรเทาอาการไว้หลายชนิด รวมไปถึงยาทาแก้โรคน้ำกัดเท้า อีกทั้งยังมีข้าวสาร อาหารแห้ง และน้ำดื่มสมทบเพิ่มมาด้วย



ถุงยังชีพมูลนิธิเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย


อีก 1 ความห่วงใยที่มีให้ประชาชนอยู่เป็นประจำ จากมูลนิธิเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ซึ่งจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ถุงยังชีพของมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยากฯ ก็ได้ทำหน้าที่ผู้ให้อีกครั้ง 

นอกจากถุงยังชีพพระราชทาน และถุงยังชีพ เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ที่เห็นกันบ่อยๆ แล้ว น้ำท่วมครั้งนี้ก็ยังได้เห็นถุงยังชีพขององค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนอีกหลายรูปแบบ เช่น

ถุงยังชีพช่อง 3

 


ขวัญใจประชาชน ที่บุกไปถึงที่ประสบภัย  อีกทั้งยังสามารถระดมเงินทุนเพื่อช่วยเหลือน้ำท่วมได้มหาศาลไม่แพ้ภาครัฐ  ซึ่งนอกจากถุงยังชีพที่นำไปแจกจ่ายกับชาวบ้าน ที่ประกอบด้วยข้าวสาร อาหารแห้งชุดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีถุงยังชีพสำหรับเด็กๆ ซึ่งในถุงนั้นมีของเล่นไว้แก้เบื่อพร้อมกับขนมต่างๆ ไว้ทานอีกด้วย

 

ถุงยังชีพเด็ก

ถุงยังชีพเด็ก

 


ถุงยังชีพ ศปภ.

 


อีก 1 หน่วยงานของรัฐ ที่คุ้นหู คุ้นตาอย่างมากในช่วงที่เกิดน้ำท่วม ไม่ว่าจะย้ายหนีน้ำจากดอนเมืองจนมาที่กระทรวงพลังงานก็ตาม  นอกจากหน้าที่ที่ต้องรายงานสถานการณ์น้ำท่วมให้กับประชาชนได้รับทราบแล้ว ก็ยังมีการลงพื้นที่ไปแจกถุงยังชีพที่จัดสรรสิ่งของมาให้ประชาชนไว้ใช้อย่างหลากหลายชนิดอย่างพอดิบพอดี

ถุงยังชีพกองทัพบก


ถือเป็นฮีโร่ของเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ว่าได้สำหรับกองทัพบก ที่ส่งทหารกล้ามาช่วยเหลือประชาชน ทั้งขนย้ายสิ่งของ ช่วยคนแก่และเด็ก รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนด้วยรถGMC  นอกจากนี้ยังมีถุงยังชีพไปบริจาคให้กับชาวบ้าน ซึ่งข้างในก็มีทั้งของกินของใช้อยู่ได้สบายๆ หลายวัน พร้อมกับอาหารปรุงสุกที่ถูกปาก

ทั้งนี้ยังมีอีกหลายหน่วยงาน ที่ทำถุงยังชีพแจกให้กับประชาชน ที่มาจากหน่วยงานเล็ก และใหญ่ ของภาครัฐ และเอกชนอีกหลายแห่ง เช่น ถุงยังชีพกองทัพเรือ, ถุงยังชีพสมาคมแม่บ้านตำรวจ, ถุงยังชีพไทยรัฐ, ถุงยังชีพธนาคารอิสลาม ฯลฯ และรวมไปถึง 'ถุงยังรัก' ที่ถูกแพร่ภาพในสังคมออนไลน์ ไม่เคยไปแจกที่ไหน แต่เห็นแล้วก็อดอมยิ้มไม่ได้กับไอเดียคนที่คิดทำขึ้นมา



Twitter : Sriploi_social


 

โดย: ทีมข่าวไลฟ์สไตล์

24 พฤศจิกายน 2554, 08:00 น.

http://m.thairath.co.th/content/life/218409

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

รายได้ของแคดดี้

วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 12:58:53 น.

รายได้ของแคดดี้

Share9




โดย พิศณุ นิลกลัด 

คอลัมน์ ขึ้นแท่นปักที




แม้ว่าจะเป็นเพียงแคดดี้ แต่สตีฟ วิลเลียมส์ ดังกว่านักกอล์ฟส่วนใหญ่ในพีจีเอ ทัวร์ เขาสร้างชื่อด้วยฝีมือและฝีปาก โดยช่วยให้ ไทเกอร์ วูดส์ คว้าแชมป์เมเจอร์ 13 ใน 14 รายการที่ไทเกอร์ชนะ และกัดไทเกอร์หลายครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่โดนไทเกอร์ปลดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

วิลเลียมส์เป็นแคดดี้ที่มีรายได้มากที่สุดในโลก เขาได้เงินจากไทเกอร์ประมาณปีละ 1 ล้านดอลลาร์ในการแบกถุงให้ไทเกอร์ 12 ปี (ไม่รวมเงินจากสปอนเซอร์ของเขาเอง)

หลังจากที่วิลเลียมส์แยกทางกับ

ไทเกอร์ เขาก็ทำงานให้อดัม สก็อตต์ และถูกแจ็กพอตทันทีเมื่อสก็อตต์คว้าแชมป์บริดจ์สโตน อินวิเทชันนอล

สก็อตต์ได้เงินรางวัลจากรายการนี้ 1.4 ล้านดอลลาร์ และวิลเลียมส์ได้ส่วนแบ่งประมาณ 140,000 ดอลลาร์ (ร้อยละ 10 ของเงินรางวัลของนักกอล์ฟ)

โดยทั่วไปแล้ว นักกอล์ฟกับแคดดี้ไม่มีสัญญาจ้างงานเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ทำงานด้วยกันด้วยสัญญาสุภาพบุรุษ หรือสัญญาแบบจับมือกัน

ปกติแล้วแคดดี้ระดับทั่วไปของ

นักกอล์ฟระดับธรรมดาในพีจีเอ ทัวร์ จะได้เงินค่าจ้างประมาณ 1,000 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ ในสัปดาห์ที่มีการแข่งขัน

แต่สิ่งที่ทำให้แคดดี้มีรายได้ดีคือ ส่วนแบ่งเงินรางวัลของนักกอล์ฟ

แคดดี้จะได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 5-10 ของเงินรางวัลที่นักกอล์ฟทำได้ ถ้า

นักกอล์ฟได้แชมป์ แคดดี้มักจะได้ส่วนแบ่งร้อยละ 10 ของเงินรางวัลของ

นักกอล์ฟ ถ้านักกอล์ฟติดท็อป 10 แคดดี้ก็จะได้ส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 7-8 ถ้านักกอล์ฟไม่ติดท็อป 10 แคดดี้ก็จะได้ส่วนแบ่งน้อยลง แต่ไม่น่าจะน้อยกว่าร้อยละ 5

ยิ่งนักกอล์ฟมีผลงานดีเท่าไหร่ แคดดี้ก็จะยิ่งได้ส่วนแบ่งมากขึ้น

แคดดี้บางคนอาจขอค่าจ้างน้อยลงแต่ขอส่วนแบ่งเงินรางวัลมากขึ้น ขณะที่แคดดี้ชั้นนำอาจจะขอส่วนแบ่งเงินรางวัลในอัตราเดียว เช่น ร้อยละ 8 ไม่ว่านักกอล์ฟจะจบที่อันดับที่เท่าไหร่

ในเมื่อรายได้ส่วนใหญ่ของ

แคดดี้มาจากส่วนแบ่งเงินรางวัลของนักกอล์ฟ แคดดี้จึงอยากทำงานกับนักกอล์ฟชั้นนำมากกว่า

โคลิน มอนต์โกเมอรี่ ซึ่งใกล้ปลดระวางเคยบ่นว่าเขาหาแคดดี้ได้ยากมาก แต่เมื่อ มาร์ติน 

คายเมอร์ อดีตมือ 1 ของโลกต้องการแคดดี้คนใหม่ก็มีแคดดี้ประมาณ 100 คนยื่นใบสมัครขอเป็นแคดดี้ของคายเมอร์

นักกอล์ฟหลายคนเคยเป็นแคดดี้มาก่อน ขณะที่แคดดี้บางคนเคยเป็นนักกอล์ฟมาก่อน หรือ อาจจะทำงาน 2 อย่างทั้งเป็นแคดดี้และแข่งกอล์ฟ

เดมอน กรีน แคดดี้ของ แซค จอห์นสัน เป็นหนึ่งในคนที่มีชื่อเสียงในฐานะแคดดี้และนักกอล์ฟ เขายอมรับว่าเขาหันไปเป็นแคดดี้เพราะเอาดีไม่ได้ในการแข่งขันกอล์ฟ และทุกวันนี้เขาก็ยังแข่งกอล์ฟเมื่อว่างจากการทำงานให้จอห์นสัน

เขาได้อันดับที่ 13 ร่วมในยูเอส ซีเนียร์ โอเพ่นปีนี้ และได้เงินรางวัล 52,370 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นรายได้ก้อนใหญ่ที่สุดของเขาในการเล่นกอล์ฟ แต่ก็ยังน้อยกว่าเงินที่เขาได้จากจอห์นสัน

ด้วยเหตุที่แคดดี้มีรายได้ดี นักกอล์ฟในทัวร์เล็ก ๆ หลายคนที่ไม่สามารถขึ้นชั้นไปเล่นในทัวร์ใหญ่จึงหันไปเป็นแคดดี้ ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ในวงการกอล์ฟ

เงินรางวัลชนะเลิศของพีจีเอ ทัวร์ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านดอลลาร์ต่อ 1 รายการ นั่นหมายความว่า แคดดี้ของนักกอล์ฟที่ได้แชมป์จะได้ส่วนแบ่งประมาณ 100,000 ดอลลาร์ สำหรับการทำงาน 1 สัปดาห์

ดีกว่าเล่นเองเยอะเลย

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1322114331&grpid=no&catid=12

 

ม็อบหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี บุกรื้อแนวกระสอบทรายยาว 300 ม.

 

ม็อบหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี บุกรื้อแนวกระสอบทรายยาว 300 ม.

ม็อบหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปีราว 500 คนสุดทน บุกรื้อแนวกระสอบทรายหน้าตลาดรังสิตระยะทางยาวกว่า 300 เมตรหลังต้องอยู่ในสภาพน้ำท่วมขังนานนับเดือน ขณะที่รองนายกเทศมนตรีฯ รุดเจรจาทำความเข้าใจก่อนแยกย้าย...

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ได้มีกลุ่มชาวบ้านจากหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ประมาณ 400-500 คน ได้รวมตัวกันโดยมี นายยงยุทธ หาญเกียรติกล้า และนายสุชาติ ชัยมงคลภักดิ์ แกนนำตัวแทนชุมชนด้านหลังหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่มีผู้อยู่อาศัยจำนวน 3,500 ครัวเรือน และมีชาวบ้านอีกราว 100 คน ผู้ได้รับความเดือดร้อน จากแนวคันกั้นกระสอบทราย ฝั่งตลาดรังสิต ตลาดติละพรพัฒน์ ตลาดสุชาติ รังสิตทั้ง 3 ตลาดลุยน้ำระดับความสูง 1 เมตร ออกมาจากหมู่บ้านรวมตัวกันบริเวณตรงข้ามที่ทำการเทศบาลนครรังสิต พร้อมชูป้ายข้อความ "ในหมู่บ้าน 200 ปี ยังท่วม 1.20 เมตร น้ำเน่า น้ำท่วมมา 1 เดือน 1 สัปดาห์แล้ว" และ "200 ปี ทุ่งหมาเมิน"


ทั้งนี้ ชาวบ้านได้ใช้โทรโข่งกล่าวโจมตี การบริหารจัดการกู้น้ำของเทศบาลนครรังสิต และกรมชลประทาน ที่นำแนวกระสอบทรายมากั้น เฉพาะฝั่งตะวันตกของถนนรังสิต-ปทุมธานี ส่งผลให้ฝั่งตะวันออกของถนน และชุมชนหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี มีระดับน้ำท่วมขังสูงกว่า 30 เซนติเมตร โดยขอให้ผู้บริหารเทศบาล หรือเจ้าหน้าที่ออกมาทำความตกลงตามข้อเรียกร้องขอให้ทำการรื้อแนวกระสอบทรายออกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนถึงเวลา 11.00 น. โดยไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าทำการเจรจา กลุ่มชาวบ้านจึงพากันเดินข้ามฝั่งและทำการรื้อแนวกระสอบทรายตั้งแต่ปากซอย 7 ปากทางเข้า สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ถึงซอย 1 หน้าตลาดรังสิต ระยะทางยาวกว่า 300 เมตร โดยไม่มีหน่วยงานใดขัดขวาง กระทั่งระดับน้ำบนถนนรังสิต-ปทุมธานี เหนือแนวกระสอบทราย ได้ทะลักไหลเข้าทั้ง 3 ตลาดอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระดับน้ำบนถนน และในตลาดเสมอกัน


นายสุชาติ กล่าวว่า น้ำท่วมหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว พวกเราไม่เคยเรียกร้องใดๆ แต่พอระดับน้ำเริ่มยุบแล้ว ทาง กทม.ได้ทำการปิดกั้นน้ำไม่ให้เข้า กทม.น้ำที่อยู่ในหมู่บ้าน จึงเอ่อขึ้น และแทนที่จะแก้ทั้งระบบวงกว้าง กลับมาทำเพียงกั้นแนวกระสอบทรายให้กับ 3 ตลาด โดยไม่มีการสอบถาม ซึ่งเราได้ส่งตัวแทนไปขอนัดพบนายกเทศมนตรี หรือตัวแทน วันนี้เมื่อเวลา 11.00 น. มาคุยกันว่าจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไรแต่ก็ไม่มา พวกเราจึงอดทนไม่ไหวทำการรื้อแนวกระสอบทรายออก เพราะพวกเราเดือดร้อนกันมานาน ถุงยังชีพนั้นไม่ต้องการ อยากมีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนคนกรุงเทพฯ 

ต่อมา เมื่อเวลา 14.30 น. วันเดียวกัน นายเดชา กลิ่นกุสุม รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครรังสิต กล่าวว่า สาเหตุที่กลุ่มหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี บางรายที่ไม่เข้าใจ และได้เข้ารื้อแนวกระสอบทรายออก จึงได้เชิญแกนนำร่วมประชุมทำความเข้าใจในแผนการกู้ สถานการณ์น้ำที่เริ่มจะลดลง โดยข้อเท็จจริงได้ดำเนินการเป็นวงกว้างทั้ง 2 ฝั่งชุมชน โดยใช้รถแบ็กโฮปิดล้อมคันดิน ตั้งแต่ริมถนนพหลโยธินขาออก ซอยโรงงานโฮย่าเลนส์ อ้อมขึ้นไปด้านหลังชุมชน 200 ปี บริเวณเมน 3-4 เป็นคันดินที่ล้อมยากจึงขอเวลา 3-4 วันซึ่งระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะลดลงวันละ 3 เซนติเมตร


นายเดชา กล่าวอีกว่า ตามข้อมูลสถิติของกรมอุทกศาสตร์ ซึ่งระดับน้ำจะหนุนสูงสุดวันที่ 31 พ.ย. นี้ ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ยังต่างระดับสูงกว่าน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ประมาณ 27 ซม. และยังมีน้ำที่ไหลบ่าข้ามทางรถไฟมาตั้งแต่รังสิตถึงนิคมอุตสาหกรรมนวนคร เป็นระยะทางยาว 9 กิโลเมตร ซึ่งบางตำแหน่งต่างระดับ 14 ซม. โดยน้ำจากภายในพื้นที่เทศบาลนครรังสิต ก็มีระดับเดียวกับน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ หากตามแผนเดิม เมื่อกั้นแนวกระสอบทรายเสร็จทั้งหมด ระดับน้ำเจ้าพระยาก็จะครบรอบระดับน้ำทะเลลดลง ไม่ข้ามทางรถไฟมาอีก เราก็ทำการเร่งระดมสูบออก พื้นที่ก็จะแห้งพร้อมกัน ชาวบ้านไม่เข้าใจว่าทำไมเราไม่ทำให้แห้งภายใน 10 วัน เพราะว่าพอสูบออกทางประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ น้ำก็ยังไหลวนข้ามทางรถไฟมาอีก ซึ่งจากนี้ไปอีก 7 วัน พอถึงวันที่ 1 ธ.ค.ไปแล้วน้ำทะเลไม่หนุน ระดับน้ำก็ลงไปเอง 

จากนั้นชาวบ้านได้แยกย้ายกันกลับไปพร้อมทั้งขอให้ทางเทศบาลนครรังสิต ตรวจสอบเครื่องสูบน้ำให้ทำงานตามที่เคยเจรจากันไว้ด้วย.

 

โดย: ทีมข่าวภูมิภาค

24 พฤศจิกายน 2554, 17:36 น.

http://m.thairath.co.th/content/region/218948

วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ไฉน! ชื่อแสนแสบ

ไฉน! ชื่อแสนแสบ

ในหนังสือชื่อบ้านนามเมือง ในกรุงเทพฯ (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7) ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย เขียนถึงคลองแสนแสบไว้ว่า เป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ขุดขึ้นเพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง ตำบลบางขนาก เมื่อ พ.ศ.2380

ใช้เป็นเส้นทางลัดในการเดินทางไปยังเมืองปราจีนและเมืองฉะเชิงเทรา มีพระราชประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ กำลังรบ และเสบียงอาหารไปยังประเทศญวนในสงครามไทย-ญวน ซึ่งใช้เวลารบถึง 14 ปี

ชื่อคลองไม่พบคำหลักฐานแน่ชัดว่าเป็น คำภาษาใด มีความหมายอย่างไร มีผู้สันนิษฐานเป็นหลายกรณี

กรณีแรก แสนแสบเป็นคำไทยแท้

รายงานการเดินทางของนายดี โอ คิง นักสำรวจชาวอังกฤษ ตอนหนึ่งมีความว่า

คลองนี้มีความยาว 55 ไมล์ เชื่อมนครกรุงเทพฯ กับแม่น้ำบางปะกง ผ่านบริเวณที่ราบชนบท ซึ่งใช้สำหรับการเพาะปลูกข้าวโดยเฉพาะ คนพื้นเมืองเป็นคนเชื้อสายมาเลย์ เช่นเดียวกับชาวสยามอื่นๆ

พื้นบ้านของคนเหล่านี้ทำด้วยไม้ไผ่ ยกขึ้นสูงขึ้นจากพื้นประมาณ 4 ฟุต เสื้อผ้าที่สวมใส่เป็นผ้ารัดเอวธรรมดาๆ และไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรอยู่ก็ตาม มือข้างหนึ่งจะต้องใช้ปัดยุงเสมอ

รายงานนี้ น่าจะเป็นข้อสันนิษฐานว่า ชื่อคลองแสนแสบ น่าจะเกิดจากความเจ็บแสบอย่างสาหัสของชาวบ้านแถบนั้นที่ถูกยุงกัด

แต่ก็มีนักภาษาศาสตร์บางท่านสันนิษฐาน แตกต่างออกไปว่า ชื่อแสนแสบมาจากภาษามลายู ที่ออกเสียงว่า สุไหล เซนแญป มีความหมายว่าคลองเงียบสงบ ตามลักษณะของต้นคลองและปลายคลองที่อยู่ในระนาบเดียวกัน ทำให้กระแสน้ำค่อนข้างนิ่ง

ชาวไทรบุรีเข้ามาตั้งถิ่นฐานนี้เป็นพวกแรก พากันเรียกว่าสุไหง–เซนแญบ คนไทยออกเสียงตามลำบาก จึงออกเสียงตามปากถนัดว่า คลองแสนแสบ

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ทิ้งท้ายว่า ชื่อคลองแสนแสบ ยังไม่มีข้อยุติจนกว่าจะหาหลักฐานที่บ่งชัดอย่างแน่นอนมายืนยัน

ในส่วนคำนำหนังสือเล่มเดียวกัน สุจิตต์ วงษ์เทศ ยกข้อสันนิษฐานของ ส.พลายน้อย มาอธิบายคำแสนแสบ...เพิ่ม

คำแสนแสบ น่าจะหมายถึงแม่น้ำลำคลอง หรือห้วยหนองคลองบึง หรือทะเลสาบ เพี้ยนมาจาก"แส-สาป"

ปรีดา ศรีชลาลัย อ้างว่า สมัยหนึ่งเคยเรียกทะเลว่าเส หรือแส เช่น หลงเส หรือเสหล่ง เท่ากับเสหลวง พงศาวดารเชียงแสนเรียกว่า หนองแส

ที่แส-สาป กลายเป็นแสนแสบ มีตัวอย่างคำ แม้ เป็น แม้น แส จึงเป็น แสน ปลาบ เป็น แปลบ

ฉะนั้น สาป จึงเป็น แสบ ได้

สุจิตต์ วงษ์เทศ ไม่แน่ใจว่า เสกับแส เป็นคำไทย แต่สนใจเบาะแสที่ ส. พลายน้อย บอก เปิดพจนานุกรมไทย-เขมร ฉบับทุนพระยาอนุมานราชธน เพิ่มเมื่อพ.ศ.2528 มีดังนี้

เส (เขมรอ่าน เซ) แปลว่าผีน้ำ

คำนี้มีอยู่ในภาษาข่า ในตระกูลมอญ– เขมร แถบอีสานและลาวหมายถึงแม่น้ำ เช่น เซบก เซบาย ที่อุบลฯ–ยโสธร แปลว่าแม่น้ำ

สาป (เขมรอ่าน ซาบ) แปลว่า จืด

ในเขมรทุกวันนี้ ทะเลสาบ หมายถึงแม่น้ำจืด ไทยยืมคำนี้มาในความหมายเดียวกับคำภาษาอังกฤษว่า lake เช่น ทะเลสาบสงขลา

ถ้า เสสาป กลายเป็นแสนแสบ จริง ก็หมายความว่าชื่อคลองแสนแสบมาจากตระกูลภาษามอญ-เขมร

สอดคล้องกับถิ่นฐานแถบนั้น เช่นเดียวกับชื่่อ พระโขนง ก็เป็นภาษาเขมร รวมทั้งเรื่องราวของแม่นาคพระโขนง ก็น่าจะเป็นเค้ามาจากเขมร

สุจิตต์ วงษ์เทศ บอกว่า เบาะแสเรื่องนี้ ก็อยู่ที่ ส.พลายน้อย เขียนไว้ในหนังสือศิลปวัฒนธรรม...ว่า

ทุ่งแสนแสบกับทุ่งบางกะปิ มีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดารทั้งคู่ ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ถ้าข้าศึกจะเข้ามากรุงเทพฯ ก็จะต้องเข้ามาทางด้านตะวันออก

เมื่อครั้งรัชกาลที่ 3 พ.ศ.2369 เจ้าอนุเวียงจันท์เป็นกบฏ ให้ราชวงศ์ลงมากวาดต้อนครัวเมืองสระบุรี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ โปรดให้จัดแจงตกแต่งพระนครเตรียมสู้รบข้าศึก ให้เสนาบดีไปตั้งค่ายที่ทุ่งวังลำพอง รายไปถึงทุ่งบางกะปิ

และในรัชกาลนี้เอง กองทัพไทยได้กวาดต้อนพวกแขกจามเขมร (พวกจามในเขมรนับถือศาสนาอิสลาม) มาจากเมืองพนมเปญ โปรดให้ครัวแขกจามเหล่านี้ ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่คลองบางกะปิ แสนแสบ เลยไปถึงหลอแหล

ก็พวกแขกจามเขมรนี่ละกระมัง ที่เริ่มเรียกคลองนี้ ด้วยภาษาของตนว่า เสสาป แต่พวกไทยพากันเรียกเสียงเพี้ยนไปว่า แสนแสบ และก็เรียกกันมาตราบจนทุกวันนี้.

บาราย

โดย: บาราย

16 ตุลาคม 2554, 05:00 น.

http://www.thairath.co.th/column/pol/kumpee/209537

 

พระพิรุณเทพเจ้าแห่งฝนที่คนไทยรู้จัก คัมภีร์ไตรเภทของอินเดีย เรียกว่าพระวรุณ

 

พระวรุณ

พระพิรุณเทพเจ้าแห่งฝนที่คนไทยรู้จัก คัมภีร์ไตรเภทของอินเดีย เรียกว่าพระวรุณ ส.พลายน้อย เล่าไว้ในหนังสือเทว- นิยาย พระวรุณเป็นโอรสองค์โตของนางอทิติ และพระกัสยป มีนามเต็มว่าพระวรุณาทิตย์ มีพระอนุชา 7 พระองค์

พระมิตราทิตย์ พระอริยมนาทิตย์ ภคาทิตย์ องศาทิตย์ อินทราทิตย์ ธาตราทิตย์ และองค์สุดท้อง สุริยาทิตย์ องค์นี้คือพระอาทิตย์ ที่ดูเหมือนจะรู้จักมากกว่า อาทิตย์พระองค์อื่น

ส.พลายน้อย บอกว่า เทพที่เกิดแต่นางอทิติ มีคำว่าอาทิตย์ต่อท้าย ซึ่งหมายความว่าเป็นลูกนางอทิติ

แต่พระวรุณ องค์ในคัมภีร์มหาภารตะ เป็นโอรสฤาษีกรรทมพรหมบุตร ทำหน้าที่เป็นท้าวโลกบาล ครองทิศตะวันตก เป็นเจ้าแห่งฝน น้ำ และทะเล

เมืองพระวรุณ ชื่อ วสุธา หรือสุขา บางคัมภีร์ว่า พระวรุณมีวังอยู่บนยอดเขาบุษปคีรี (ภูเขาดอกไม้) ซึ่งอยู่ใต้น้ำ สีกายเป็นสีขาว บางแห่งว่าเป็นสีเมฆ ทรงพัสตราภรณ์สีเหลือง ประดับด้วยไข่มุก

ตามรูปมีทั้งสองกรและสี่กร ถ้าเป็นสองกร กรหนึ่งถือวรท (ยังหาคำแปลไม่ได้) อีกกรถือเชือกบาศสองบ่วง บ่วงหนึ่งใช้ทำโทษ ผู้ที่ผิดคำมั่นสัญญา จะถูกบ่วงบาศนี้คล้องเอาตัวไปทำโทษ อีกบ่วงใช้ในทางกรุณา

ถ้าเป็นรูปสี่กร นอกจากถือสองอย่างข้างต้น ยังถืองู และหม้อน้ำ

พาหนะพระวรุณ กล่าวกันหลายอย่าง ตามรูปที่สร้าง ถ้าเป็นศิลปะขอม ประทับนั่งเหนือฐาน ประกอบด้วยหงส์สี่ตัว บางรูปพระวรุณอยู่เหนือนาค 3 เศียร บางตำนานว่ามีพาหนะเป็นปลามกร เช่นเดียวกับแม่พระคงคา บางตำนานว่าเป็นจระเข้

ในกฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยา พระวรุณทรงนาค ส.พลายน้อยว่า ก็ดูถูกเรื่องกันอยู่ เพราะนาคมีหน้าที่รักษาแม่น้ำลำธารและให้ฝน

ในสมัยพระเวท พวกพราหมณ์นับถือพระวรุณมาก เพราะนอกจากเป็นองค์ประทานน้ำแก่มนุษย์ ยังเป็นผู้ปกครองดูแลความเป็นไป รักษาความสุขสวัสดีแห่งมนุษย์และสัตว์ทั้งปวง เป็นธุระในการตัดสินโทษสัตว์นรก ใครทำผิดคิดร้ายที่ไหนอย่างไร พระวรุณรู้หมด

คนนิสัยเสียชอบกล่าวเท็จ พระวรุณจะลงโทษให้เป็นโรคท้องมาน เหมือนพระเจ้าหริศจันทร์ ที่ขอบุตรต่อพระวรุณ โดยให้สัญญา ถ้าได้บุตรแล้วจะเอาบุตรบูชายัญถวาย
ครั้นได้บุตรสมใจ พระเจ้าหริศจันทร์ ก็บ่ายเบี่ยง จนพระโรหิตกุมาร บุตรได้เติบโตก็ยังไม่ทำตามสัญญา

พระวรุณลงโทษพระเจ้าหริศจันทร์ ให้ประชวรเป็นโรคท้องมาน ผู้คนในสมัยนั้นกลัวพระวรุณกันมาก เวลาจะทำคำมั่นสัญญาใดๆ จะต้องดื่มน้ำอ้างพระวรุณว่า พวกเขาจะคบกันโดยสุจริต ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดทรยศ ขอให้พระวรุณลงโทษ

"เรื่องนี้ เห็นจะเป็นต้นประเพณี การถือน้ำ พระพิพัฒน์สัตยาของไทยเรา" ส.พลายน้อยว่า

ในสมัยต่อมา อำนาจของพระวรุณเสื่อมลง พระอินทร์เข้ามาแย่งตำแหน่งไป การที่พระวรุณสู้พระอินทร์ไม่ได้ กล่าวกันว่าเพราะพระวรุณไม่กินเหล้า เหตุเพราะได้ชายาเป็นเทวีแห่งสุรา ในขณะที่พระอินทร์ชอบเสวยสุราที่เรียกกันว่าน้ำโสม เมาขึ้นมาคราวไรก็คำรามลั่น

นิยายในอินเดีย เอาไปเขียนว่า เวลาฝนตกหนักมีพายุฝนอื้ออึงนั้น เกิดจากพระอินทร์เมาเหล้าเอะอะไล่พระวรุณ

ในสมัยพระเวท พระวรุณทำหน้าที่คู่กับพระอาทิตย์ พระวรุณปกครองกลางคืน พระอาทิตย์ปกครองกลางวัน

นามพระวรุณ เคยนำมาใช้เป็นบรรดาศักดิ์ขุนนางไทย ในทำเนียบตั้งบรรดาศักดิ์ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ มีบรรดาศักดิ์ พระยาวรุณฤทธีศรีสมุทรปราการ

ผู้ได้บรรดาศักดิ์นี้เป็นคนแรก คือพระยาชัยวิชิตวิสิฐธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร) ก่อนหน้านั้น เป็นที่พระสมุทรบุรานุรักษ์ เหตุที่จะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์นี้ มีเรื่องบันทึกว่า

เมื่อ พ.ศ.2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎ เกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปประทับ ณ จังหวัดสมุทรปราการ วันหนึ่งเกิดพายุพัดแรงจัด ฝนตกหนักผิดปกติ ทำให้เครื่องกันฝนที่พลับพลาชำรุด พระสมุทรบุรานุรักษ์ ออกไปกลางฝน อำนวยการซ่อมแซมเครื่องกันฝนด้วยตนเอง จนป้องกันไม่ให้พายุฝนสาดเข้าไปในพลับพลาได้

รุ่งขึ้น มีพระบรมราชโองการ ให้พระสมุทรบุรานุรักษ์ เข้าเฝ้าที่พลับพลา พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นพระยาวรุณฤทธีศรีสมุทร-ปราการ ซึ่งหมายความว่า มีอำนาจเหนือฝนอันเป็นสิริแก่จังหวัดสมุทรปราการ

ส.พลายน้อย บอกว่า นี่คือนามบรรดาศักดิ์แรกที่เกิดขึ้นเพราะฝนเป็นเหตุ และนำนามพระวรุณมาใช้ทางราชการสมัยกรุงศรีอยุธยา กำหนดว่า ตำแหน่งเกษตราธิการ พระยาพลเทพ เสนาบดี มีตราใช้ 9 ดวง ดวงหนึ่งเป็นตราพระพิรุณขี่นาคทรงเครื่อง ทำเป็นรูปพระพิรุณยืนบนหลังนาคราช มือขวาถือพระขรรค์

ตราดวงนี้สำหรับใช้ไปวิดน้ำเข้านา ใช้ไปขุดบึงบางคลองไขน้ำ ใช้เป็นตราใหญ่ดำเนินพระโองการในสารตราต่างๆ

ต่อมากรมส่งเสริมสหกรณ์ นำรูปพระวรุณขี่นาคมาใช้เป็นตรากรม โดยทำเป็นรูปพระวรุณ4 กร

พระหัตถ์แรกถือเชือกบาศ หมายถึงความสามัคคีกลมเกลียว อีกพระหัตถ์ถือถุงเงิน หมายถึงกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ พระหัตถ์สามถือแว่นแก้ว หมายถึงงานสำรวจและจัดตั้ง พระหัตถ์สี่ถือดอกบัวหมายถึงงานวิเทศสัมพันธ์.

 

บาราย

โดย: บาราย

30 ตุลาคม 2554, 05:00 น.

http://m.thairath.co.th/column/pol/kumpee/212768#_=_

'ชูวิทย์'แฉอีก รฟท.จับมือผู้รับเหมาใหญ่ลดสเปกราง

 

'ชูวิทย์'แฉอีก รฟท.จับมือผู้รับเหมาใหญ่ลดสเปกราง

"ชูวิทย์" แฉอีก รฟท.จับมือผู้รับเหมาใหญ่ลดสเปกราง ทิ้งทุ่นโยงพรรคภูมิใจไทย อาจมีเอี่ยวทุจริตในสมัยรัฐบาล ปชป.

วันที่ 23 พ.ย. ที่รัฐสภา นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย แถลงความไม่ชอบมาพากลการปรับเปลี่ยนรางรถไฟระยะที่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงชุมทางแก่งคอย – แก่งเสือเต้น สุระนารายณ์ – ชุมทางบัวใหญ่ และชุมทางถนนจิระ – ชุมทางบัวใหญ่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อบเม้นท์ จำกัด(มหาชน) มูลค่ากว่า 8 พันล้าน โดยจากการตรวจสอบ พบว่า บริษัทอิตาเลียนไทยฯ ได้มีการเปลี่ยนสเปกของรางรถไฟ ในช่วงทางโค้งที่ต้องใช้รางแบบหัวแข็งที่มีราคาแพงโดยหันมาใช้ราง BS100 A ซึ่งใช้ในเส้นทางตรง ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในช่วงทางโค้ง ที่มีการใช้ประแจสับ เพราะมีการเสียดสีมาก ซึ่งหากรางที่คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตของประชาชนได้


นายชูวิทย์ กล่าวต่อว่า ตนทราบมาว่าบริษัท อิตาเลียนไทย ยังไปจ้างบริษัทที่ผลิตรางดังกล่าวจากประเทศจีน ซึ่งเป็นบริษัทเล็กและเคยมีผลงานส่งรางรถไฟไปที่ประเทศซูดาน และประเทศมาเลเซีย และในส่วนของประเทศมาเลเซีย ได้มีการส่งรางรถไฟกลับเพราะผลิตไม่ได้คุณภาพ นอกจากนี้การดำเนินการครั้งนี้ ยังไม่มีบริษัทที่สามที่ไม่มีส่วนได้เสียเข้ามาตรวจสอบคุณภาพของงานด้วย

อย่างไรก็ตามตนยังรับทราบมาว่า ในการปรับปรุงรางรถไฟในระยะทางที่ 6 สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงชุมทางบัวใหญ่-หนองคาย ที่บริษัท ซิโน-ไทย เป็นผู้ชนะประมูลในวงเงิน 6.5 พันล้านบาท ก็มีพฤติการณ์เดียวกันกับบริษัทอิตาเลียนไทย เพราะเห็นว่าเมื่อมีการเปลี่ยนสเปกของรางรถไฟทำให้รางรถไฟราคาถูก จึงมีแนวโน้มจะปฏิบัติตาม ทั้งนี้ยังทราบว่า รฟท.ได้ตั้งราคากลางเหล็กเพื่อทำรางรถไฟ ไว้ที่ 4.5 หมื่นบาทต่อตัน แต่ทางบริษัทอิตาเลียนไทย กลับใช้เหล็กในราคา 1.5 หมื่นบาท ต่อตัน อาจส่งผลให้คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นอยากเรียกร้องให้รัฐบาลชุดนี้ รีบเข้าไปตรวจสอบ 

ส.ส.บัญชีรายชื่อกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับส่วนต่างของการปรับเปลี่ยนสเปกรางรถไฟหรือไม่นั้น แต่โครงการนี้ดำเนินการในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล โดยมีพรรคภูมิใจไทยดูแลกระทรวงคมนาคม และมีผู้รับเหมาก็เป็นบริษัท ยักษ์ใหญ่ที่เชื่อมโยงกับทุกรัฐบาล และสามารถหาช่องทางในการเปลี่ยนแปลงสเปก ซึ่งตนเชื่อว่า จะไม่จบแค่ผู้ว่าการ รฟท.แน่นอน

 

โดย: ทีมข่าวการเมือง

24 พฤศจิกายน 2554, 00:59 น.

http://www.thairath.co.th/content/pol/218687

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คนกรุง-คนดัง บ้านน้ำท่วม 5 พันบาทขาดตัว???

 

คนกรุง-คนดัง บ้านน้ำท่วม 5 พันบาทขาดตัว???

น้ำท่วมครั้งนี้ นอกจากจะทำให้หลายคนต้องเร่ร่อนไปคนละทิศละทาง การใช้ชีวิตลำบากมากขึ้นแล้ว พอหลังจากน้ำลด แทนที่จะได้เข้าไปอยู่ในบ้านได้อย่างสบายใจ กลับต้องรับภาระหนักจากความเสียหายที่น้องน้ำมาเยี่ยมเยือนถึงในบ้าน คงไม่ต้องยกตัวอย่างว่ามีกี่ครอบครัวที่ต้องประสบกับชะตากรรมแบบนี้ เพราะเป็นเหมือนกันหมดทุกที่ไม่เว้นยากดีมีจน 

ราคากลางที่ทางภาครัฐจะชดเชยให้กับบ้านที่ถูกน้ำท่วม ก็ยังคงเป็นเรื่องที่หลายคนยังตั้งคำถามว่าเพียงพอหรือไม่กับความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะจนหรือรวย ก็ 5 พันบาทขาดตัว!

โชคดีหน่อยถ้าใครที่พอมีฐานะบ้าง คงไม่ต้องลำบากในการซ่อมแซมหลังน้ำลด แต่คงเป็นเรื่องที่สลดใจน่าดูสำหรับคนชนชั้นกลางไปจนถึงกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย เพราะค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปกับการซ่อมบ้านนั้น แต่ละบ้านก็ไม่เท่ากัน ค่าชดเชยที่ทางภาครัฐจะให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมครั้งนี้เป็นจำนวน 5,000 บาทนั้นอาจไม่เพียงพอ 'ไทยรัฐออนไลน์' วันนี้ จึงไปพูดคุยกับคนดังที่ถูกน้ำท่วมบ้าน ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องค่าชดเชยที่ทางรัฐจะเยียวยาให้กับประชาชน 

เริ่มต้นที่ครีเอทีฟคนเก่งแห่ง Bang Channel "ป๋อมแป๋ม-นิติ ชัยชิตาทร" ซึ่งกลายเป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วมทันที หลังจากที่บ้านย่านรามอินทรา ถูกน้องน้ำมาเยือนถึงในบ้าน ซึ่งระดับน้ำสูงประมาณครึ่งแข้ง

"ที่บ้านตอนที่น้ำขึ้นสูงสุดก็ประมาณครึ่งแข้ง ก็พออยู่ได้ ยังไม่ถึงขั้นลำบากอะไร แต่ที่ไม่ไหวคงเป็นเรื่องน้ำเน่ามากกว่า เพราะมันเหม็นมาก ส่วนเรื่องค่าเสียหายคิดว่าคงมีไม่มาก และผมเองก็ไม่ได้ไปทำเรื่องขอเงินค่าชดเชยกับทางรัฐบาลไว้ด้วย เพราะคงไม่พอหรอก ตู้เย็นพังไปเครื่องนึงก็ไม่พอแล้ว แต่มันก็ไม่ได้เลวร้ายนะกับเงินจำนวนนี้ เพราะถ้าให้จ่ายตามจริงคงล่มจมแน่ๆ ตอนนี้เลยมีเงินชดเชยจากของบริษัทที่ทำงานครับ คิดว่าน่าจะได้มากกว่า 5,000 บาท ส่วนที่บ้านก็รอให้น้ำแห้งอย่างเดียว และคงเน้นไปที่เรื่องการทำความสะอาดบ้านมากกว่า

น้ำมาเดี๋ยวมันก็ลด คนไทยอยู่กับน้ำท่วมมาตั้งแต่โบราณแล้วนะ เราถึงมีบ้านที่ยกใต้ถุนสูง หรือการเดินทางโดยเรือ ซึ่งมันก็เป็นวัฒนธรรมของชนชาติในละแวกนี้อยู่แล้ว เรารู้และก็ใช้ชีวิตอยู่กับเรื่องพวกนี้มาได้ตั้งนาน แต่ตอนนี้พวกเราลืมการปรับตัวมากเกินไป พอได้บ้านอิฐปูนขึ้นมาก็จะตายตัวอยู่กับมัน จนเน้นการแก้ไข้มากกว่าการปรับตัวให้กลมกลืน อย่าเอาแต่โวยวาย หรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นเหยื่อมาก ต้องหาทางปรับตัวด้วย"

ต่อที่ไฮโซสาวสวย "แอร์- แอรอนนา โทณะวณิก" กับแฟนหนุ่ม "วิว-ธีรกิตติ์  จารุจินดา" ซึ่งถูกน้ำท่วมบ้านทั้งคู่ โดย สาวแอร์ เผยว่า ที่บ้านตนยังไม่เสียหายมากนัก แต่สำหรับบ้านของหนุ่มวิวถึงกับเสียหายอย่างหนัก และเตรียมเปลี่ยนแบบบ้านใหม่แล้ว

"ตอนนี้บ้านแอร์น้ำยังไม่เข้าบ้านค่ะ แต่เราก็เตรียมพร้อมเรื่องการป้องกันไว้ค่อนข้างเยอะ ก็คิดว่าไม่น่าจะหนักมาก เพราะบ้านแอร์เองก็ไม่ได้มีของอะไรเยอะแยะด้วย ส่วนบ้านของวิวค่อนข้างหนักมากค่ะ น้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตร และเข้าในบ้านด้วย ตอนนี้ทั้งบ้านแอร์และบ้านวิว เลยย้ายมาอยู่ที่หัวหินกันหมด รอน้ำลดอย่างเดียวเลยค่ะ ส่วนค่าเสียหายคงยังไม่ได้ประเมินเลยค่ะ แต่เท่าที่ทราบตอนนี้ที่บ้านวิวคงต้องเปลี่ยนแบบบ้านไปเลยค่ะ ดังนั้น เรื่องเงินชดเชย 5 พันบาท แอร์คิดว่ามันไม่พออยู่แล้ว แอร์ว่าเอาเงินจำนวนนี้ไปสร้างหรือทำอะไรที่จะช่วยป้องกันไม่ให้น้ำท่วมจะดีกว่า 

แอร์อยากให้ครั้งนี้เป็นอุทาหรณ์ให้คิดอะไรได้มากขึ้น อย่าวัตถุนิยม สะสมของกันนัก ให้พอใจสิ่งที่มีอยู่ดีกว่า เข้าใจว่ามีหลายคนเสียหาย แต่ก็ต้องคิดว่ามีคนที่เขาแย่กว่าเราเยอะมาก อย่าไปบ่นอะไรมันมาก และยิ่งไปสะสมของไว้มาก พอเสียหายก็บ่นกันหมด  เพราะถึงได้เงินชดเชยมาก็ไม่พออยู่ดี ทางแก้ที่ดีที่สุดคือพอเพียงดีกว่าค่ะ"

ท้ายสุดที่บ้าน "สาวมายด์-กุณฑีรา ปัจฉิมสวัสดิ์" ซึ่งอาศัยอยู่บ้านพักย่านจรัญสนิทวงศ์ ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน โดยเฉพาะคลินิกของคุณตาและคุณยาย ที่เปิดมากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งล่าสุดสาวเก่งคนนี้บอกว่า คงต้องปิดกิจการ และหาอย่างอื่นทำแทน

"บ้านมายด์ก่อนหน้านี้ก็ท่วมสูงเกือบประมาณเมตรครึ่ง ไปไหนมาไหนไม่ได้เลยต้องใช้เรืออย่างเดียว และที่บ้านมายด์ไม่อพยพไปไหนกันด้วย เพราะเขาเป็นห่วงบ้านกันหมด และอยู่ในบ้านก็ยังโอเคค่ะ เลือกที่จะสูบน้ำออกแทนดีกว่า ตอนนี้ค่าสียหายแค่ตัวบ้านเอาแค่ช่วงน้ำท่วมก็ใช้เงินไปกว่า 3 แสนบาทแล้วค่ะ เพราะมายด์กำลังก่อสร้างบ้านอีกหลังไว้ด้วย แต่ตอนนี้ท่วมไปครึ่งแล้ว ก็คงต้องสร้างใหม่ เรื่องที่เสียเงินส่วนใหญ่จะเป็นส่วนของการป้องกันมากกว่าค่ะ และที่บ้านคุณตาคุณยายเปิดคลินิกอยู่ด้วย ตรงนั้นจะเสียหายหนักมาก เพราะป้องกันไม่ทันด้วย ตอนนี้คือท่วมชั้น 1 แล้วค่ะ เท่าที่ประเมินความเสียหายตอนนี้ก็ประมาณ 2 แสนบาท แต่ก็มีพวกเฟอร์นิเจอร์ เตียงหมอ ยา เตียง คือทั้งคลินิกไปหมดเลย เลยคิดว่าคลินิกคงต้องปิดไปเลยค่ะ คงหาอย่างอื่นทำดีกว่า


น้ำท่วมครั้งนี้มันหนักมาก เป็นอีกเหตุการณ์ที่คุณตาคุณยายค่อนข้างสะเทือนใจ เพราะท่านเปิดคลินิกมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่มันก็ช่วยอะไรไม่ได้อ่ะค่ะที่ว่าหลังละ 5 พัน แต่อาจจะช่วยในเรื่องความรู้สึกมากกว่า เหมือนเป็นการปลอบขวัญแต่ก็เข้าใจนะคะ"


เห็นจำนวนเงินชดเชยจากน้ำท่วมแล้ว ก็ต้องยอมรับให้ได้ ถึงแม้ว่าจะไม่พอกับความเสียหายที่ได้รับมา แต่อีก 1 ปัญหาที่จะตามมาก็คือ เงื่อนไขของการรับเงิน ยังคงเป็นเรื่องที่ภาครัฐควรอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมากกว่านี้ เพราะหลักฐานที่ต้องยื่น เช่น ภาพถ่ายบ้านที่ถูกน้ำท่วมของผู้ประสบอุทกภัย, ทะเบียนบ้าน หรือหลักฐานอื่นๆ ที่ต้องนำมาแสดงนั้น ตอนนี้คงมีอีกหลายคนที่ยังไม่สามารถนำมาให้ได้ เพราะยังต้องอพยพกันอยู่นอกบ้าน เห็นแบบนี้แล้ว ไม่รู้ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะเห็นใจกันบ้างหรือเปล่า หรือว่าจะเอาแต่ความสะดวกในการทำงานเพียงอย่างเดียว.


Twitter : Sriploi_social

 

โดย: ทีมข่าวไลฟ์สไตล์

17 พฤศจิกายน 2554, 08:00 น.

http://m.thairath.co.th/content/life/217044

กฟผ. ชงรัฐบาลขอเขื่อนใหม่ จุดวิวาทะ เขื่อน คำตอบแก้น้ำท่วมจริงหรือ

 

กฟผ. ชงรัฐบาลขอเขื่อนใหม่ จุดวิวาทะ เขื่อน คำตอบแก้น้ำท่วมจริงหรือ

สถานการณ์อุทกภัยปี 2554 เริ่มคลี่คลาย แต่มวลปัญหาใหญ่ๆ หลายข้อยังตกค้างรอหาคำตอบ ข้อถกเถียงหนึ่งในเวลานี้คือเขื่อนใหญ่ๆ ที่มีอยู่ ณ ขณะนี้อาจไม่สามารถรองรับน้ำท่วมขนาดใหญ่ในอนาคตได้ และเริ่มมีการเสนอโมเดลบ้างแล้วว่าจำเป็นต้องมีการสร้างโครงสร้างรองรับน้ำใหม่ๆเพื่อใช้รับมือน้ำท่วม เนื่องจากที่มีอยู่เดิมไม่เพียงพอ ข้อเสนอจาก กฟผ. คือการสร้างเขื่อนใหม่ แต่เขื่อนเป็นทางออกจริงหรือไม่ ฟังข้อเสนอจากนักวิชาการที่ร่วมสร้างวิวาทะเพื่อหาทางออกจากวิกฤตมวลน้ำ

 

โดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ

เมื่อรัฐบาลตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ที่มีกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ เพื่อเรียนรู้บทเรียนปัจจุบันและหวังรับมือน้ำท่วมในอนาคต แม้ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดแนวทางที่ชัดเจนออกมา แต่ทางฟากหน่วยงานต่างๆ และนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาได้เริ่มส่งคำตอบออกมาเป็นการโยนหินถามทางบ้างแล้ว

โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ซึ่งตกเป็นหนึ่งในจำเลยที่เป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วม เสนอทางออกว่าต้องสร้างเขื่อนใหม่ขึ้นเพื่อรับน้ำ แต่ก็ดังที่รับทราบว่าเขื่อนถือเป็นประเด็นละเอียดอ่อนในสังคมไทยไม่น้อย คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ความต้องการของ กฟผ. จะเป็นจริง แต่เหนืออื่นใด คำตอบที่ต้องค้นหาให้เจอก่อนคือ เขื่อนเป็นคำตอบจริงหรือไม่

กฟผ. เสนอสร้างเขื่อนใหม่รองรับน้ำ

ข้อเสนอหนึ่งที่น่าจับตาของ กฟผ. เกิดขึ้น เมื่อสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ. ให้สัมภาษณ์ผ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อเร็วๆนี้ว่าการจัดการน้ำด้วยระบบชลประทาน ปัจจุบันทำได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำทั้งหมดตามธรรมชาติ จึงต้องเพิ่มเครื่องมือบริหารจัดการน้ำเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเขื่อนเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้บริหารจัดการน้ำ ทางผู้ว่าการการไฟฟ้า มองว่าในเชิงวิชาการมีความจำเป็นต้องสร้างเขื่อนเพิ่ม

สุทัศน์ให้สัมภาษณ์ว่า 'ปัจจุบันพื้นที่ภาคกลางตอนบนมีเขื่อนหลัก 2 เขื่อนในการกักเก็บน้ำ คือเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งช่วยกักเก็บน้ำในปีนี้ได้กว่า 21,779 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แบ่งเป็นเขื่อนภูมิพล 11,488 ล้านลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์ 10,291 ล้านลบ.ม. ขณะที่มีปริมาณการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนเมื่อสิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมาอยู่ที่ 10,458 ล้านลบ.ม. โดยเป็นการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล 4,085 ล้านลบ.ม. และระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ 6,573 ล้านลบ.ม. หากเปรียบเทียบน้ำเข้าเขื่อนปีนี้สูงกว่าปี 2538 เป็นปริมาณมาก โดยเขื่อนภูมิพลปีนี้ปีน้ำเข้าเขื่อน 11,488 ล้านลบ.ม. ส่วนปี 2538 มีน้ำเข้า 6,021 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ ปี 2554 อัตราไหลเข้า 10,291 ล้านลบ.ม. ปี 2538 ไหลเข้าเพียง 8,651 ล้านลบ.ม.

'จากการติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จะเห็นว่าเขื่อนที่มีอยู่ขณะนี้ยังไม่สามารถบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคกลางได้ทั้งหมด โดยเฉพาะลุ่มน้ำที่มีมวลน้ำมากอย่างแม่น้ำยมและแม่น้ำสะแกกรัง ขณะที่ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 3,400 ลบ.ม.ต่อวินาที เฉพาะแม่น้ำยมมีอัตราการไหลของน้ำที่สมทบเข้ากับแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 800 ลบ.ม.ต่อวินาที และแม่น้ำสะแกกรังที่ จ.อุทัยธานี มีปริมาณการไหลของน้ำเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา 500 ลบ.ม.ต่อวินาที แม่น้ำทั้งสองสายไม่มีเขื่อนช่วยกักเก็บหรือชะลอน้ำเอาไว้'

พิจารณาจากคำสัมภาษณ์ของสุทัศน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ดูเหมือนว่าเขื่อนในแม่น้ำยมที่สุทัศน์เอ่ยถึงก็คือเขื่อนแก่งเสือเต้น มีความจุน้ำได้ 1,175 ล้านลบ.ม. แต่ประสบปัญหาการคัดค้านอย่างยืดเยื้อยาวนานนับจากอดีตถึงปัจจุบันซึ่งเป็นโครงการที่เคยอยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ แต่เมื่อการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมระบุว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นจะสร้างผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เป็นเหตุให้ธนาคารโลก (World Bank)ไม่อนุมัติเงินกู้ให้ สุดท้าย จึงมีการโอนโครงการนี้ไปให้แก่กรมชลประทานรับผิดชอบต่อ

นอกจากกรณีที่ธนาคารโลกไม่อนุมัติเงินกู้แล้ว เขื่อนแก่งเสือเต้นยังถูกต่อต้านอย่างหนัก ทั้งจากนักวิชาการ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และชาวบ้านตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้างเขื่อน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นผืนป่าสักทองขนาด 20,000ไร่ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และทุกรัฐบาลมักมีความพยายามรื้อฟื้นเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาทุกครั้ง โดยล่าสุดกรมชลฯ ได้เสนอแนวคิดให้สร้างเขื่อนขนาดเล็กลง 2เขื่อน แทนเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งจะมีผลกระทบน้อยกว่า แต่ต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างมากกว่า

นักวิชาการเห็นด้วยว่าโครงสร้างน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอ

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อเอ่ยถึงโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำ ใช่ว่าจะมีแต่สิ่งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานหรือสิ่งปลูกสร้างเพียงอย่างเดียว เนื่องจากโครงสร้างดังกล่าวประกอบด้วย 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นการบริหารจัดการและส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่จากอุทกภัยครั้งนี้ ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการโครงการวิจัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และคณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรงและ ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปคล้ายกันว่า การบริหารจัดการของภาครัฐมีปัญหาและต้องปรับปรุงหลายด้าน ดังนั้น ปัญหาการบริหารจัดการน้ำจะพูดแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้

กลับมาสู่ประเด็นที่ว่าประเทศไทยต้องสร้างโครงสร้างรองรับน้ำใหม่หรือไม่ คำถามที่ต้องตอบก่อนก็คือแล้วที่มีอยู่ขณะนี้เพียงพอหรือไม่ ซึ่งเมื่อประมวลจากความเห็นจากนักวิชาการทั้งสองคน  ต่างเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า โครงสร้างรองรับน้ำที่มีอยู่ตอนนี้สามารถรับมือกับน้ำท่วมขนาดเล็กและขนาดกลางได้ แต่ก็เรียกว่าใช้จนเต็มที่แล้ว หากต้องเผชิญน้ำท่วมขนาดใหญ่เช่นปี 2554 อีกในอนาคตก็แน่นอนว่า เอาไม่อยู่

อย่างไรก็ตาม การสร้างเขื่อนใหม่เพื่อรับมือตามความเห็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ นักวิชาการทั้งสองกลับมีมุมมองที่ต่างออกไป ซึ่งเขื่อนอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดตอนนี้

เขื่อนรับน้ำไม่อยู่ ขุดแม่น้ำดีกว่า

ดร.สุทัศน์ อธิบายว่า ขณะนี้แม่น้ำเจ้าพระยาต้องรับน้ำ 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2549, 2553 และ 2554 ยืนยันชัดเจนแล้วว่า แม่น้ำเจ้าพระยาไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำที่มากขนาดนี้ได้ ขณะเดียวกัน อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่กรมชลประทานมีอยู่ก็ไม่สามารถรับมือได้ สรุปคือเครื่องมือที่กรมชลฯ ใช้อยู่มีไม่เพียงพอแต่การสร้างเขื่อนใหม่จะช่วยได้หรือไม่

"การสร้างเขื่อนใหม่ กรมชลฯ พูดอยู่เรื่องเดียวคือเขื่อนในแม่น้ำยมหรือเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนหลักการจากแทนที่จะเป็นหนึ่งเขื่อนก็แบ่งเป็น 2 เขื่อนเล็ก คือเขื่อนแม่น้ำยมตอนบนกับตอนล่าง อย่างไรก็ตาม เขื่อนทั้งสองก็จะไม่สามารถรองรับน้ำขนาดปีนี้ได้ เพราะเขื่อนจะมีขนาดเล็กลงเพื่อให้มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อยลง"

หรือแม้แต่กลับไปสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นแบบเดิม ก็ไม่สามารถรับมือน้ำท่วมใหญ่ขนาดนี้ได้เช่นกัน ดร.สุทัศน์ กล่าวว่า ต้องเป็นเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์จึงจะสามารถรับมวลน้ำขนาดปี 2554 ได้ แต่ปัญหาก็คือลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ตอนบนถึงตอนล่าง ไม่มีพื้นที่มากพอสำหรับเขื่อนขนาดใหญ่ ยังไม่นับว่าเขื่อนเป็นประเด็นละเอียดอ่อนสำหรับสังคมไทย

ดร.สุทัศน์ จึงเสนอว่า ควรขุดแม่น้ำสายใหม่แทนการสร้างเขื่อน

"โดยส่วนตัวคิดว่าควรจะสร้างแม่น้ำสายใหม่เลย เริ่มจากอยุธยา โดยแม่น้ำสายใหม่ไม่ควรอิงกับสายเก่า เช่น บางปะกงหรือท่าจีน เพราะเวลาน้ำท่วมก็มีน้ำเยอะอยู่แล้ว สายใหม่จึงควรยิงตรงจากอยุธยาออกอ่าวไทยเลย ใจผมลงทุนได้แค่ครั้งนี้ครั้งเดียว จะบอกว่าน้ำท่วมอีก 10 ปี ลงทุนทำอีกครั้งฟังไม่ขึ้น เพราะฉะนั้นจะทำครั้งนี้ครั้งเดียว ต้องทำให้มีผลกระทบระยะยาวไปเลย"

เขื่อนไม่ใช่คำตอบ ต้องซุปเปอร์ เอ็กซ์เพรส ฟลัดเวย์

ด้าน ดร.ธนวัฒน์แห่งคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ ที่เพิ่งเสนอการสร้างซุปเปอร์ เอ็กซ์เพรส ฟลัดเวย์ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยใช้แนวคลองชัยนาท-ป่าสักเดิม ทำการขุดลอกและขยายสองฟากคลองออกไปข้างละ 1 กิโลเมตร เพื่อระบายน้ำตัดตรงออกสู่ทะเลที่อ่าวไทย ซึ่งมีการคำนวณว่าจะสามารถระบายน้ำได้ 500 ล้านลบม.ต่อวัน ขณะที่พื้นที่สองฟากคลองจะปรับเป็นพื้นที่เพาะปลูกในยามปกติ

ส่วนประเด็นการสร้างเขื่อน ดร.ธนวัฒน์ มีมุมมองต่อประเด็นนี้ว่า

"ถ้าคุณพิสูจน์ไม่ได้ว่าเขื่อนสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ แล้วจะสร้างไปทำไม สังคมต้องถามกลับว่าขนาดมีเขื่อนขนาดนี้ยังป้องกันไม่ได้ แล้วข้อมูลทางวิชาการมันก็ชัดว่าเขื่อนเป็นตัวการทำให้เกิดน้ำท่วม ผมไม่ใช่ไม่เห็นด้วย แต่คุณต้องไปปรับระบบการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบให้ได้ เขื่อนที่มีอยู่คุณปรับประสิทธิภาพก่อนแล้วค่อยมาว่ากันเรื่องสร้างเขื่อนใหม่ ผมไม่ได้แอนตี้ สร้างเขื่อนก็มีประโยชน์ แต่ถ้ายังบริหารจัดการไม่ดีแล้วสร้างเขื่อนใหม่ มันเหมือนกับเราไปหน่วงน้ำไว้ แค่สองเขื่อนอั้นอยู่อย่างนี้ ถ้าสร้างเขื่อนเพิ่มก็เท่ากับเพิ่มมวลน้ำที่อยู่ข้างบน"

ขณะที่การสร้างแม่น้ำสายใหม่ ดร.ธนวัฒน์ ก็มองว่า เป็นแนวคิดเดียวกับการทำซุปเปอร์ เอ็กซ์เพรส ฟลัดเวย์แต่มีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งโดยส่วนตัวเขาไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้เนื่องจากต้องใช้งบประมาณสูง อีกทั้งการขุดแม่น้ำถือเป็นเรื่องใหญ่และต้องคิดให้รอบคอบทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วม

ดร.ธนวัฒน์ อธิบายว่า หากขุดแม่น้ำสายใหม่แล้วเผชิญกับภาวะน้ำแล้ง จะหาน้ำจากไหนมาใส่และต้องใช้น้ำมากแค่ไหน ซึ่งจะส่งผลให้ขาดน้ำหนักหนายิ่งขึ้น ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรงกว่าซุปเปอร์ เอ็กซ์เพรส ฟลัดเวย์

แนวคิดการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่คงต้องผ่านการถกเถียงพูดคุยจนตกผลึก ซึ่งคณะกรรมยุทธศาสตร์ฯ จำเป็นต้องฟังความอย่างรอบด้านและรอบคอบเพื่อเฟ้นหาทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อให้การป้องกันน้ำท่วมในอนาคตได้ผลและยั่งยืนอย่างแท้จริง

 

ภาพเขื่อนจาก http://www.vcharkarn.com/varticle/38468

ปรากฏในหน้าแรกที่: 
ข่าวเจาะพาดหัว (สไลด์โชว์)
17 พฤศจิกายน 2011

วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ชาวบ้านแห่ดูลิงสาวนาตาลีเลี้ยงวัวต้อนไปกินหญ้าแทนเจ้าของ


 
วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 12:10 น.  ข่าวสดออนไลน์ 


ชาวบ้านแห่ดูลิงสาวนาตาลีเลี้ยงวัวต้อนไปกินหญ้าแทนเจ้าของ 

 ผู้สื่อข่าวรับแจ้งจากนายเชิดศักดิ์ วงศ์นพหิรัญ ประธาน อบต.อ่างแก้วว่า ที่บ้านเลขที่ 23/2 ม. 2 ต. ห้วยไผ่ อ. แสวงหา จ. อ่างทอง ว่ามีลิงเพศเมียอยู่ตัวหนึ่ง ที่เจ้าของวัวได้ให้เลี้ยงวัวอยู่กลางทุ่งทั้งวัน แทนเจ้าของ หลังรับแจ้งจึงเดินทางไปตรวจสอบ เมื่อถึงที่บ้านเลขที่ดังกล่าวพบของนายสุชิน เฟื่องฟุ้ง อายุ 50 ปี เจ้าของบ้าน โดยนายสุชิน เล่าว่า ตนได้เลี้ยงแม่หมู 2 ตัว มีลูกหมู 8 ตัว และมีบ่อกบอีก 4 บ่อ เลี้ยงวัวอีก 5 ตัว จากนั้นนายสุชินได้พาไปหาลิงเพศเมียซึ่งชื่อว่า น.ส.นาตาลี อายุ 2 ปี ซึ่งได้เลี้ยงมาตั้งแต่ตัวยังเล็กและอยู่กับวัวมาตลอด จนปัจจุบันได้ปล่อยให้เลี้ยงวัวทั้งวันจนเย็นแล้วจึงนำฝูงวัวกลับบ้าน ส่วนสัตว์อื่นนาตาลีจะกลัวร้องไม่เข้าหาอย่างหมู หมา

 

 นายสุชิน กล่าวว่า นาตาลีได้มาจากพระที่จังหวัดราชบุรีให้มา เพราะมันเป็นลิงกำพร้า พ่อแม่ของนางสาวนาตาลีถูกกะเหรี่ยงยิงแล้วนำไปเป็นอาหาร พระท่านสงสารจึงนำมาให้ตั้งแต่ตัวเล็กเท่าแขนและเมื่อนำมาเลี้ยงมันช่างแสนรู้และตนพามาอยู่กับฝูงวัวที่ตนเลี้ยงไว้ โดยนาตาลีจะคุ้นเคยกับฝูงวัวจนโตและที่สำคัญนาตาลีเลี้ยงวัวแทนตนได้ ซึ่งนาตาลีได้เลี้ยงวัวมาแล้ว 2 รุ่น และชอบวัวสีแดงมากเป็นพิเศษ 

 

 นายสุชิน กล่าวอีกว่า ในช่วงนี้น้ำได้ท่วมทุ่งนาหมด จึงได้แต่ไล่ฝูงวัวให้ไปกินหญ้าที่แถว อบต.ห้วยไผ่ เพราะยังมีหญ้าให้วัวได้เป็นอาหารอยู่ และตนจะนำฝูงวัวไปกินหญ้าที่บริเวณลานของอบต. ห้วยไผ่ โดยนาตาลี จะนั่งบนหลังวัวสีแดงมาพอถึงแล้วก็ปล่อยให้นาตาลีเลี้ยง จนเย็นตนจึงมานำฝูงวัวกลับบ้าน ซึ่งชาวบ้านในละแวกนี้ก็รู้จักนาตาลีกันเป็นอย่างดี  




Share36

 




http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNeU1UVXdOalk0TUE9PQ==&sectionid=