วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กฟผ. ชงรัฐบาลขอเขื่อนใหม่ จุดวิวาทะ เขื่อน คำตอบแก้น้ำท่วมจริงหรือ

 

กฟผ. ชงรัฐบาลขอเขื่อนใหม่ จุดวิวาทะ เขื่อน คำตอบแก้น้ำท่วมจริงหรือ

สถานการณ์อุทกภัยปี 2554 เริ่มคลี่คลาย แต่มวลปัญหาใหญ่ๆ หลายข้อยังตกค้างรอหาคำตอบ ข้อถกเถียงหนึ่งในเวลานี้คือเขื่อนใหญ่ๆ ที่มีอยู่ ณ ขณะนี้อาจไม่สามารถรองรับน้ำท่วมขนาดใหญ่ในอนาคตได้ และเริ่มมีการเสนอโมเดลบ้างแล้วว่าจำเป็นต้องมีการสร้างโครงสร้างรองรับน้ำใหม่ๆเพื่อใช้รับมือน้ำท่วม เนื่องจากที่มีอยู่เดิมไม่เพียงพอ ข้อเสนอจาก กฟผ. คือการสร้างเขื่อนใหม่ แต่เขื่อนเป็นทางออกจริงหรือไม่ ฟังข้อเสนอจากนักวิชาการที่ร่วมสร้างวิวาทะเพื่อหาทางออกจากวิกฤตมวลน้ำ

 

โดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ

เมื่อรัฐบาลตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ที่มีกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ เพื่อเรียนรู้บทเรียนปัจจุบันและหวังรับมือน้ำท่วมในอนาคต แม้ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดแนวทางที่ชัดเจนออกมา แต่ทางฟากหน่วยงานต่างๆ และนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาได้เริ่มส่งคำตอบออกมาเป็นการโยนหินถามทางบ้างแล้ว

โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ซึ่งตกเป็นหนึ่งในจำเลยที่เป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วม เสนอทางออกว่าต้องสร้างเขื่อนใหม่ขึ้นเพื่อรับน้ำ แต่ก็ดังที่รับทราบว่าเขื่อนถือเป็นประเด็นละเอียดอ่อนในสังคมไทยไม่น้อย คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ความต้องการของ กฟผ. จะเป็นจริง แต่เหนืออื่นใด คำตอบที่ต้องค้นหาให้เจอก่อนคือ เขื่อนเป็นคำตอบจริงหรือไม่

กฟผ. เสนอสร้างเขื่อนใหม่รองรับน้ำ

ข้อเสนอหนึ่งที่น่าจับตาของ กฟผ. เกิดขึ้น เมื่อสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ. ให้สัมภาษณ์ผ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อเร็วๆนี้ว่าการจัดการน้ำด้วยระบบชลประทาน ปัจจุบันทำได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำทั้งหมดตามธรรมชาติ จึงต้องเพิ่มเครื่องมือบริหารจัดการน้ำเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเขื่อนเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้บริหารจัดการน้ำ ทางผู้ว่าการการไฟฟ้า มองว่าในเชิงวิชาการมีความจำเป็นต้องสร้างเขื่อนเพิ่ม

สุทัศน์ให้สัมภาษณ์ว่า 'ปัจจุบันพื้นที่ภาคกลางตอนบนมีเขื่อนหลัก 2 เขื่อนในการกักเก็บน้ำ คือเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งช่วยกักเก็บน้ำในปีนี้ได้กว่า 21,779 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แบ่งเป็นเขื่อนภูมิพล 11,488 ล้านลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์ 10,291 ล้านลบ.ม. ขณะที่มีปริมาณการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนเมื่อสิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมาอยู่ที่ 10,458 ล้านลบ.ม. โดยเป็นการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล 4,085 ล้านลบ.ม. และระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ 6,573 ล้านลบ.ม. หากเปรียบเทียบน้ำเข้าเขื่อนปีนี้สูงกว่าปี 2538 เป็นปริมาณมาก โดยเขื่อนภูมิพลปีนี้ปีน้ำเข้าเขื่อน 11,488 ล้านลบ.ม. ส่วนปี 2538 มีน้ำเข้า 6,021 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ ปี 2554 อัตราไหลเข้า 10,291 ล้านลบ.ม. ปี 2538 ไหลเข้าเพียง 8,651 ล้านลบ.ม.

'จากการติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จะเห็นว่าเขื่อนที่มีอยู่ขณะนี้ยังไม่สามารถบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคกลางได้ทั้งหมด โดยเฉพาะลุ่มน้ำที่มีมวลน้ำมากอย่างแม่น้ำยมและแม่น้ำสะแกกรัง ขณะที่ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 3,400 ลบ.ม.ต่อวินาที เฉพาะแม่น้ำยมมีอัตราการไหลของน้ำที่สมทบเข้ากับแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 800 ลบ.ม.ต่อวินาที และแม่น้ำสะแกกรังที่ จ.อุทัยธานี มีปริมาณการไหลของน้ำเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา 500 ลบ.ม.ต่อวินาที แม่น้ำทั้งสองสายไม่มีเขื่อนช่วยกักเก็บหรือชะลอน้ำเอาไว้'

พิจารณาจากคำสัมภาษณ์ของสุทัศน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ดูเหมือนว่าเขื่อนในแม่น้ำยมที่สุทัศน์เอ่ยถึงก็คือเขื่อนแก่งเสือเต้น มีความจุน้ำได้ 1,175 ล้านลบ.ม. แต่ประสบปัญหาการคัดค้านอย่างยืดเยื้อยาวนานนับจากอดีตถึงปัจจุบันซึ่งเป็นโครงการที่เคยอยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ แต่เมื่อการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมระบุว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นจะสร้างผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เป็นเหตุให้ธนาคารโลก (World Bank)ไม่อนุมัติเงินกู้ให้ สุดท้าย จึงมีการโอนโครงการนี้ไปให้แก่กรมชลประทานรับผิดชอบต่อ

นอกจากกรณีที่ธนาคารโลกไม่อนุมัติเงินกู้แล้ว เขื่อนแก่งเสือเต้นยังถูกต่อต้านอย่างหนัก ทั้งจากนักวิชาการ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และชาวบ้านตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้างเขื่อน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นผืนป่าสักทองขนาด 20,000ไร่ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และทุกรัฐบาลมักมีความพยายามรื้อฟื้นเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาทุกครั้ง โดยล่าสุดกรมชลฯ ได้เสนอแนวคิดให้สร้างเขื่อนขนาดเล็กลง 2เขื่อน แทนเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งจะมีผลกระทบน้อยกว่า แต่ต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างมากกว่า

นักวิชาการเห็นด้วยว่าโครงสร้างน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอ

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อเอ่ยถึงโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำ ใช่ว่าจะมีแต่สิ่งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานหรือสิ่งปลูกสร้างเพียงอย่างเดียว เนื่องจากโครงสร้างดังกล่าวประกอบด้วย 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นการบริหารจัดการและส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่จากอุทกภัยครั้งนี้ ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการโครงการวิจัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และคณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรงและ ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปคล้ายกันว่า การบริหารจัดการของภาครัฐมีปัญหาและต้องปรับปรุงหลายด้าน ดังนั้น ปัญหาการบริหารจัดการน้ำจะพูดแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้

กลับมาสู่ประเด็นที่ว่าประเทศไทยต้องสร้างโครงสร้างรองรับน้ำใหม่หรือไม่ คำถามที่ต้องตอบก่อนก็คือแล้วที่มีอยู่ขณะนี้เพียงพอหรือไม่ ซึ่งเมื่อประมวลจากความเห็นจากนักวิชาการทั้งสองคน  ต่างเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า โครงสร้างรองรับน้ำที่มีอยู่ตอนนี้สามารถรับมือกับน้ำท่วมขนาดเล็กและขนาดกลางได้ แต่ก็เรียกว่าใช้จนเต็มที่แล้ว หากต้องเผชิญน้ำท่วมขนาดใหญ่เช่นปี 2554 อีกในอนาคตก็แน่นอนว่า เอาไม่อยู่

อย่างไรก็ตาม การสร้างเขื่อนใหม่เพื่อรับมือตามความเห็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ นักวิชาการทั้งสองกลับมีมุมมองที่ต่างออกไป ซึ่งเขื่อนอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดตอนนี้

เขื่อนรับน้ำไม่อยู่ ขุดแม่น้ำดีกว่า

ดร.สุทัศน์ อธิบายว่า ขณะนี้แม่น้ำเจ้าพระยาต้องรับน้ำ 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2549, 2553 และ 2554 ยืนยันชัดเจนแล้วว่า แม่น้ำเจ้าพระยาไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำที่มากขนาดนี้ได้ ขณะเดียวกัน อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่กรมชลประทานมีอยู่ก็ไม่สามารถรับมือได้ สรุปคือเครื่องมือที่กรมชลฯ ใช้อยู่มีไม่เพียงพอแต่การสร้างเขื่อนใหม่จะช่วยได้หรือไม่

"การสร้างเขื่อนใหม่ กรมชลฯ พูดอยู่เรื่องเดียวคือเขื่อนในแม่น้ำยมหรือเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนหลักการจากแทนที่จะเป็นหนึ่งเขื่อนก็แบ่งเป็น 2 เขื่อนเล็ก คือเขื่อนแม่น้ำยมตอนบนกับตอนล่าง อย่างไรก็ตาม เขื่อนทั้งสองก็จะไม่สามารถรองรับน้ำขนาดปีนี้ได้ เพราะเขื่อนจะมีขนาดเล็กลงเพื่อให้มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อยลง"

หรือแม้แต่กลับไปสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นแบบเดิม ก็ไม่สามารถรับมือน้ำท่วมใหญ่ขนาดนี้ได้เช่นกัน ดร.สุทัศน์ กล่าวว่า ต้องเป็นเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์จึงจะสามารถรับมวลน้ำขนาดปี 2554 ได้ แต่ปัญหาก็คือลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ตอนบนถึงตอนล่าง ไม่มีพื้นที่มากพอสำหรับเขื่อนขนาดใหญ่ ยังไม่นับว่าเขื่อนเป็นประเด็นละเอียดอ่อนสำหรับสังคมไทย

ดร.สุทัศน์ จึงเสนอว่า ควรขุดแม่น้ำสายใหม่แทนการสร้างเขื่อน

"โดยส่วนตัวคิดว่าควรจะสร้างแม่น้ำสายใหม่เลย เริ่มจากอยุธยา โดยแม่น้ำสายใหม่ไม่ควรอิงกับสายเก่า เช่น บางปะกงหรือท่าจีน เพราะเวลาน้ำท่วมก็มีน้ำเยอะอยู่แล้ว สายใหม่จึงควรยิงตรงจากอยุธยาออกอ่าวไทยเลย ใจผมลงทุนได้แค่ครั้งนี้ครั้งเดียว จะบอกว่าน้ำท่วมอีก 10 ปี ลงทุนทำอีกครั้งฟังไม่ขึ้น เพราะฉะนั้นจะทำครั้งนี้ครั้งเดียว ต้องทำให้มีผลกระทบระยะยาวไปเลย"

เขื่อนไม่ใช่คำตอบ ต้องซุปเปอร์ เอ็กซ์เพรส ฟลัดเวย์

ด้าน ดร.ธนวัฒน์แห่งคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ ที่เพิ่งเสนอการสร้างซุปเปอร์ เอ็กซ์เพรส ฟลัดเวย์ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยใช้แนวคลองชัยนาท-ป่าสักเดิม ทำการขุดลอกและขยายสองฟากคลองออกไปข้างละ 1 กิโลเมตร เพื่อระบายน้ำตัดตรงออกสู่ทะเลที่อ่าวไทย ซึ่งมีการคำนวณว่าจะสามารถระบายน้ำได้ 500 ล้านลบม.ต่อวัน ขณะที่พื้นที่สองฟากคลองจะปรับเป็นพื้นที่เพาะปลูกในยามปกติ

ส่วนประเด็นการสร้างเขื่อน ดร.ธนวัฒน์ มีมุมมองต่อประเด็นนี้ว่า

"ถ้าคุณพิสูจน์ไม่ได้ว่าเขื่อนสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ แล้วจะสร้างไปทำไม สังคมต้องถามกลับว่าขนาดมีเขื่อนขนาดนี้ยังป้องกันไม่ได้ แล้วข้อมูลทางวิชาการมันก็ชัดว่าเขื่อนเป็นตัวการทำให้เกิดน้ำท่วม ผมไม่ใช่ไม่เห็นด้วย แต่คุณต้องไปปรับระบบการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบให้ได้ เขื่อนที่มีอยู่คุณปรับประสิทธิภาพก่อนแล้วค่อยมาว่ากันเรื่องสร้างเขื่อนใหม่ ผมไม่ได้แอนตี้ สร้างเขื่อนก็มีประโยชน์ แต่ถ้ายังบริหารจัดการไม่ดีแล้วสร้างเขื่อนใหม่ มันเหมือนกับเราไปหน่วงน้ำไว้ แค่สองเขื่อนอั้นอยู่อย่างนี้ ถ้าสร้างเขื่อนเพิ่มก็เท่ากับเพิ่มมวลน้ำที่อยู่ข้างบน"

ขณะที่การสร้างแม่น้ำสายใหม่ ดร.ธนวัฒน์ ก็มองว่า เป็นแนวคิดเดียวกับการทำซุปเปอร์ เอ็กซ์เพรส ฟลัดเวย์แต่มีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งโดยส่วนตัวเขาไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้เนื่องจากต้องใช้งบประมาณสูง อีกทั้งการขุดแม่น้ำถือเป็นเรื่องใหญ่และต้องคิดให้รอบคอบทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วม

ดร.ธนวัฒน์ อธิบายว่า หากขุดแม่น้ำสายใหม่แล้วเผชิญกับภาวะน้ำแล้ง จะหาน้ำจากไหนมาใส่และต้องใช้น้ำมากแค่ไหน ซึ่งจะส่งผลให้ขาดน้ำหนักหนายิ่งขึ้น ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรงกว่าซุปเปอร์ เอ็กซ์เพรส ฟลัดเวย์

แนวคิดการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่คงต้องผ่านการถกเถียงพูดคุยจนตกผลึก ซึ่งคณะกรรมยุทธศาสตร์ฯ จำเป็นต้องฟังความอย่างรอบด้านและรอบคอบเพื่อเฟ้นหาทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อให้การป้องกันน้ำท่วมในอนาคตได้ผลและยั่งยืนอย่างแท้จริง

 

ภาพเขื่อนจาก http://www.vcharkarn.com/varticle/38468

ปรากฏในหน้าแรกที่: 
ข่าวเจาะพาดหัว (สไลด์โชว์)
17 พฤศจิกายน 2011

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น