วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ผนวก : กามภพ กามโลก (4) วิถีแห่งการปฎิบัติ พระอาจารย์เทสก์ เกสรังสี เสถียร จันทิมาธร

 
วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7658 ข่าวสดรายวัน


ผนวก : กามภพ กามโลก (4)


วิถีแห่งการปฎิบัติ พระอาจารย์เทสก์ เกสรังสี
เสถียร จันทิมาธร



เรื่องของกาม กามภพ กามโลก ล้วนเป็นเรื่องอันเกี่ยวข้องอยู่กับความใคร่ ความอยาก ความปรารถนาดี สิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าสนใจที่ กามมี 2 คือ

1 กิเลสกาม กิเลสที่ทำให้ใคร่ 1 วัตถุกาม วัตถุอันน่าใคร่ ได้แก่กามคุณ 5 ส่วนที่น่าปรารถนาน่าใคร่ มี 5 อย่าง คือ

รูป 1 เสียง 1 กลิ่น 1 รส 1 และโผฏฐัพพะ สัมผัสทางกายที่น่าใคร่ น่าพอใจ 1

เห็นหรือยังว่า กามคุณ 5 สัมพันธ์อยู่กับอายตนะอย่างแนบแน่น สัมพันธ์ตั้งแต่เบื้องต้นกระทั่งเบื้องปลาย

ธรรมบรรยาย พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ครานี้จึงลงลึกไปยังเรื่องของกาม

กามภพ ที่เกิดของผู้ที่ยังเกี่ยวข้องอยู่ในกาม 1 โลกเป็นที่อยู่อาศัยของผู้เสพกาม ได้แก่ อบายภูมิ 4 มนุษย์โลก และสวรรค์ 6 ชั้น

ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกาจนถึงขั้นปรนิมมิตวสวัตก็รวมเป็น 11 ชั้น

เป็นอย่างไรโปรดอ่าน

กามโลกนี้นับเป็นสมรภูมิอย่างดีที่สุดของท่านผู้ซึ่งจะได้เป็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย มรรค ปฏิปทา สมถะ ฌาน สมาธิ สมาบัติ วิปัสสนา อันเป็นหนทางที่จะให้ถึงความเป็นพระอริยเจ้าก็จำต้องมายืมสถานที่คือ กามโลก นี้เป็นที่บำเพ็ญเจริญให้ครบถ้วนบริบูรณ์

ถ้าจะพูดให้สั้นๆ แล้วก็เรียกว่า ผู้พ้นจากกามโลกนี้ได้ก็ต้องเกิดมาหรือศึกษาในกามโลกนี้ให้เห็นคุณและโทษ ชัดแจ้งด้วยปัญญาอันแยบคายด้วยตนเองเสียก่อน จึงจะเรียกว่ารู้แจ้งซึ่งโลกแล้วจึงจะหนีจากโลกนี้ได้โดยชอบธรรม

ถึงรูปโลกและอรูปโลกก็เหมือนกัน ฉะนั้นท่านเหล่านั้นเกิดขึ้นมาในกามโลกนี้แล้ว ด้วยบุญญาบารมีที่ท่านได้สะสมมา นานแสนนาน แทนที่ท่านจะหลงเพลิดเพลินมัวเมาในกามโลกทั้งหลาย ดังปุถุชนธรรมดาทั่วๆ ไป

ท่านเลยเห็นตรงกันข้าม

อายตนะทั้ง 6 มีไว้ใช้เพื่อให้เกิดความสุขแก่ปุถุชนก็จริงแล แต่ท่านผู้มีบารมีที่ได้บำเพ็ญมาสมควรที่จะได้ตรัสรู้ ท่านแลเห็นตรงกันข้าม

คือ เห็นว่าที่แท้นั้นมันเป็นบ่อเกิดของอารมณ์ นำเอาความทุกข์มาให้ เช่น ตาเห็นรูปสวยๆ แล้วก็ชอบใจ อยากได้มาเป็นของตัว ก็เป็นทุกข์เพราะอยากได้ การพยายามที่จะให้ได้มาก็เป็นทุกข์ ได้มาแล้วก็ต้องเป็นทุกข์เพราะต้องบริหาร

หากรูปนั้นเสื่อมสูญหรือฉิบหายไปโดยธรรมดาของมันอย่างนั้นก็ตาม แต่ใจเราฝ่าฝืนไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้น ก็เป็นทุกข์ เมื่อยังมีการเห็นเช่นนั้นอยู่ก็เป็นทุกข์ เมื่อระลึกถึงรูปนั้นที่หายไปแล้วก็ยังเป็นทุกข์อยู่อีก อายตนะอื่นๆ นอกจากนี้ มีหูเป็นต้นก็เช่นเดียวกันนี้

เรื่องนี้พระพุทธองค์ได้เคยประสบการณ์มาด้วยพระองค์เองจนเห็นโทษแล้วทรงสละทุกสิ่งทุกอย่างออกบวชบำเพ็ญทางใจ (คือ ต่อสู้กับอารมณ์) จนได้สำเร็จพระโพธิญาณ พระองค์จึงนำประสบการณ์และหลักยุทธวิธีที่พระองค์ทรงใช้ได้ผลมาแล้วนำมาสั่งสอนเหล่าศาสนิกชนต่อมา

หลักคำสอนของพระองค์ตั้งต้นแต่ อนุปุพพีกถา มีทาน เป็นต้น ล้วนแต่เห็นหลักยุทธวิธีทั้งนั้น แต่เป็นยุทธวิธีเป็นขั้นๆ ไป

ท่านต่อสู้กับอะไร ท่านต่อสู้กับความตระหนี่เห็นแก่ตัว บางทีใจเป็นบุญกุศลอยากทำทานอยู่แต่อีกใจหนึ่งคิด ห่วงหน้าห่วงหลังกลัวจะขาดแคลน หรือไม่เมื่อให้ทานไปแล้วกลัวทรัพย์ที่มีอยู่จะไม่ครบจำนวน ดังนี้เป็นต้น

ศีล ต่อสู้กับความเสียดาย

ความสนุกเพลิดเพลินอันเป็นโลกีย์ที่เคยได้ประสบมาแล้วและเห็นแก่ตัวเหมือนกัน เมื่อผู้มาต่อสู้กับ 2 ทัพนี้ จนพ่ายแพ้ไปแล้วจะเห็นกิเลสเหล่านั้นเป็นของน้อยนิดเดียว ไม่มีกำลังอันน่ากลัวอะไรเลย แล้วจะเห็นความสุขอันยิ่งใหญ่ในชัยชนะนั้น จนจิตใจกล้าหาญมีความร่าเริง อิ่มใจเป็นอย่างยิ่ง เรียกว่า อนิสังสกถา

คำสอนของพระองค์สอนไว้ว่า ชนะขั้นนี้ยังไม่เป็นการชนะเด็ดขาดเพราะเป็นการชนะข้าศึกภายนอก ยังอาจกลับกลอกได้ เพราะใจยังไปยินดีกับความสุขในกามคุณ 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นอานิสงส์ของทาน ศีล เท่านั้น

กามคุณ 5 เป็นความสุขที่เจือไปด้วยทุกข์สำหรับหลอกลวงบุคคลที่มีปัญญาเยาว์ให้หลงติดอยู่เหมือนกับปลากำลังหิวอาหารหลงเข้าไปฮุบเอาเหยื่อที่เขาหุ้มเบ็ดเอาไว้ฉะนั้น



บทสรุปอันรวบรัดจาก พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี คือ

พระพุทธองค์ทรงสอนให้ต่อสู้กับความหลงผิด ติดสุขในกาม อย่าเห็นแก่ความหิวในเหยื่อนั้น โทษจะถึงแก่ความตายในภายหลัง

เรียกว่า กามทีนพโทษ นั้นแล


หน้า 20
http://goo.gl/9ZBvb

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น