วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ไฉน! ชื่อแสนแสบ

ไฉน! ชื่อแสนแสบ

ในหนังสือชื่อบ้านนามเมือง ในกรุงเทพฯ (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7) ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย เขียนถึงคลองแสนแสบไว้ว่า เป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ขุดขึ้นเพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง ตำบลบางขนาก เมื่อ พ.ศ.2380

ใช้เป็นเส้นทางลัดในการเดินทางไปยังเมืองปราจีนและเมืองฉะเชิงเทรา มีพระราชประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ กำลังรบ และเสบียงอาหารไปยังประเทศญวนในสงครามไทย-ญวน ซึ่งใช้เวลารบถึง 14 ปี

ชื่อคลองไม่พบคำหลักฐานแน่ชัดว่าเป็น คำภาษาใด มีความหมายอย่างไร มีผู้สันนิษฐานเป็นหลายกรณี

กรณีแรก แสนแสบเป็นคำไทยแท้

รายงานการเดินทางของนายดี โอ คิง นักสำรวจชาวอังกฤษ ตอนหนึ่งมีความว่า

คลองนี้มีความยาว 55 ไมล์ เชื่อมนครกรุงเทพฯ กับแม่น้ำบางปะกง ผ่านบริเวณที่ราบชนบท ซึ่งใช้สำหรับการเพาะปลูกข้าวโดยเฉพาะ คนพื้นเมืองเป็นคนเชื้อสายมาเลย์ เช่นเดียวกับชาวสยามอื่นๆ

พื้นบ้านของคนเหล่านี้ทำด้วยไม้ไผ่ ยกขึ้นสูงขึ้นจากพื้นประมาณ 4 ฟุต เสื้อผ้าที่สวมใส่เป็นผ้ารัดเอวธรรมดาๆ และไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรอยู่ก็ตาม มือข้างหนึ่งจะต้องใช้ปัดยุงเสมอ

รายงานนี้ น่าจะเป็นข้อสันนิษฐานว่า ชื่อคลองแสนแสบ น่าจะเกิดจากความเจ็บแสบอย่างสาหัสของชาวบ้านแถบนั้นที่ถูกยุงกัด

แต่ก็มีนักภาษาศาสตร์บางท่านสันนิษฐาน แตกต่างออกไปว่า ชื่อแสนแสบมาจากภาษามลายู ที่ออกเสียงว่า สุไหล เซนแญป มีความหมายว่าคลองเงียบสงบ ตามลักษณะของต้นคลองและปลายคลองที่อยู่ในระนาบเดียวกัน ทำให้กระแสน้ำค่อนข้างนิ่ง

ชาวไทรบุรีเข้ามาตั้งถิ่นฐานนี้เป็นพวกแรก พากันเรียกว่าสุไหง–เซนแญบ คนไทยออกเสียงตามลำบาก จึงออกเสียงตามปากถนัดว่า คลองแสนแสบ

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ทิ้งท้ายว่า ชื่อคลองแสนแสบ ยังไม่มีข้อยุติจนกว่าจะหาหลักฐานที่บ่งชัดอย่างแน่นอนมายืนยัน

ในส่วนคำนำหนังสือเล่มเดียวกัน สุจิตต์ วงษ์เทศ ยกข้อสันนิษฐานของ ส.พลายน้อย มาอธิบายคำแสนแสบ...เพิ่ม

คำแสนแสบ น่าจะหมายถึงแม่น้ำลำคลอง หรือห้วยหนองคลองบึง หรือทะเลสาบ เพี้ยนมาจาก"แส-สาป"

ปรีดา ศรีชลาลัย อ้างว่า สมัยหนึ่งเคยเรียกทะเลว่าเส หรือแส เช่น หลงเส หรือเสหล่ง เท่ากับเสหลวง พงศาวดารเชียงแสนเรียกว่า หนองแส

ที่แส-สาป กลายเป็นแสนแสบ มีตัวอย่างคำ แม้ เป็น แม้น แส จึงเป็น แสน ปลาบ เป็น แปลบ

ฉะนั้น สาป จึงเป็น แสบ ได้

สุจิตต์ วงษ์เทศ ไม่แน่ใจว่า เสกับแส เป็นคำไทย แต่สนใจเบาะแสที่ ส. พลายน้อย บอก เปิดพจนานุกรมไทย-เขมร ฉบับทุนพระยาอนุมานราชธน เพิ่มเมื่อพ.ศ.2528 มีดังนี้

เส (เขมรอ่าน เซ) แปลว่าผีน้ำ

คำนี้มีอยู่ในภาษาข่า ในตระกูลมอญ– เขมร แถบอีสานและลาวหมายถึงแม่น้ำ เช่น เซบก เซบาย ที่อุบลฯ–ยโสธร แปลว่าแม่น้ำ

สาป (เขมรอ่าน ซาบ) แปลว่า จืด

ในเขมรทุกวันนี้ ทะเลสาบ หมายถึงแม่น้ำจืด ไทยยืมคำนี้มาในความหมายเดียวกับคำภาษาอังกฤษว่า lake เช่น ทะเลสาบสงขลา

ถ้า เสสาป กลายเป็นแสนแสบ จริง ก็หมายความว่าชื่อคลองแสนแสบมาจากตระกูลภาษามอญ-เขมร

สอดคล้องกับถิ่นฐานแถบนั้น เช่นเดียวกับชื่่อ พระโขนง ก็เป็นภาษาเขมร รวมทั้งเรื่องราวของแม่นาคพระโขนง ก็น่าจะเป็นเค้ามาจากเขมร

สุจิตต์ วงษ์เทศ บอกว่า เบาะแสเรื่องนี้ ก็อยู่ที่ ส.พลายน้อย เขียนไว้ในหนังสือศิลปวัฒนธรรม...ว่า

ทุ่งแสนแสบกับทุ่งบางกะปิ มีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดารทั้งคู่ ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ถ้าข้าศึกจะเข้ามากรุงเทพฯ ก็จะต้องเข้ามาทางด้านตะวันออก

เมื่อครั้งรัชกาลที่ 3 พ.ศ.2369 เจ้าอนุเวียงจันท์เป็นกบฏ ให้ราชวงศ์ลงมากวาดต้อนครัวเมืองสระบุรี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ โปรดให้จัดแจงตกแต่งพระนครเตรียมสู้รบข้าศึก ให้เสนาบดีไปตั้งค่ายที่ทุ่งวังลำพอง รายไปถึงทุ่งบางกะปิ

และในรัชกาลนี้เอง กองทัพไทยได้กวาดต้อนพวกแขกจามเขมร (พวกจามในเขมรนับถือศาสนาอิสลาม) มาจากเมืองพนมเปญ โปรดให้ครัวแขกจามเหล่านี้ ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่คลองบางกะปิ แสนแสบ เลยไปถึงหลอแหล

ก็พวกแขกจามเขมรนี่ละกระมัง ที่เริ่มเรียกคลองนี้ ด้วยภาษาของตนว่า เสสาป แต่พวกไทยพากันเรียกเสียงเพี้ยนไปว่า แสนแสบ และก็เรียกกันมาตราบจนทุกวันนี้.

บาราย

โดย: บาราย

16 ตุลาคม 2554, 05:00 น.

http://www.thairath.co.th/column/pol/kumpee/209537

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น