วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

พลังของน้ำ


 

พลังของน้ำ

วันที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.

Share




โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข 

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554)

ประวัติศาสตร์ ตำนาน เรื่องเล่าเก่าแก่ มักมีข่าวสารข้อคิด บอกกล่าวกับคนรุ่นหลัง 

ถอดรหัส หาความหมายกันให้ดีๆ อาจเหงื่อแตกพลั่กเหมือนเพิ่งนึกออกว่า เผลอนั่งทับลูกระเบิดเอาไว้

ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯที่เรียกชื่อกันจนชิน แปลเอาความทีละตัว จะรู้ว่าบรรพบุรุษบอกไว้แบบไม่มีกั๊ก

บางโน่นบางนี่ หนองนั่นหนองโน่น บึงก็มาก ไหนจะ "ลาด" คันนายาวนี่หายห่วง ถ้า"ดอน" หรือ "โคก" ก็ค่อยยังชั่ว 

แต่ปีนี้ "ดอน" เจิ่งไปแล้ว "โคก" ที่ปทุมธานีนั้นไปก่อนเพื่อน 

น้ำท่วมปีนี้หนักหน่วง ระดับ "หยุดโลก" แต่ความจริง โลกยังหมุน เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเป็นธรรมดา

การเมืองยังเล่นกันแรงรายวัน จนมีคนพูดถึงประวัติศาสตร์เปรียบเทียบแล้ว

เลือกตั้งใหญ่ปีนี้มีพรรคการเมืองชนะล้นหลามและได้เป็นรัฐบาล เป็นเรื่องสามัญของโลกประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องแปลกสำหรับคนบางกลุ่ม

ประวัติศาสตร์การเมืองหลัง 2475 ว่าด้วยเรื่องการได้และเสียอำนาจ รวมถึงปฏิบัติการ"เอาคืน" จึงน่าสนใจทันที

หลังเปลี่ยนแปลง 2475 ปีรุ่งขึ้นก็เกิดกบฏบวรเดช เป็นการตอบโต้ทวงคืนจากผู้สูญเสียอำนาจ ต่อรัฐบาลซึ่งเกิดขึ้นหลังเปลี่ยนการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย

ฝ่ายทำรัฐประหารพ่ายแพ้แบบนองเลือด 

รัฐบาลในระบอบใหม่ ยืนยาวลุ่มๆ ดอนๆ ถึงปี 2490 รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ถูกโหมตีด้วยข้อหาต่างๆ ก่อนจะถูกปฏิวัติ 

รัฐประหาร 2490 เป็นผลงานของ "ทหาร" จับมือกับกลุ่ม "อนุรักษนิยม" ที่จะกลายเป็นขั้วอำนาจสำคัญของการเมืองไทย มาจนทุกวันนี้ 

ความเบ่งบานจากปี 2475 สิ้นสุดลงด้วยรัฐประหาร 2490 โดยใช้เวลา 15 ปี 

กระชับอำนาจกันอีกรอบ อำนาจเปลี่ยนมือจากกลุ่มราชครู มาเป็นกลุ่มจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในห้วงปี 2500-2502 

จากนั้นเป็นบทบาทของขั้วอำนาจทหารกับกลุ่มอนุรักษนิยม เป็นรัฐบาลในระบบ"ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว"

จนเกิดการลุกฮือของนักศึกษาประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 กลับมาเป็นประชาธิปไตยกันอีก

มีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย มีเลือกตั้ง มีพรรคแนวสังคมนิยมฯลงแข่งขัน มีรัฐบาลจากเลือกตั้ง 

ทหารและผู้เสียอำนาจจาก 14 ตุลาฯ ปรับขบวนใหม่ ปั่นข้อหาไม่รักชาติ ข้อหาคอมมิวนิสต์ พอได้ที่ก็ทำรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 

การรัฐประหารไล่รัฐบาลจากเลือกตั้ง ยังเกิดขึ้นอีกสองครั้ง คือ 23 กุมภาพันธ์ 2534 และ 19 กันยายน 2549 

ระยะหลัง ข้อหาคอมมิวนิสต์ขายไม่ออก ก็เปลี่ยนไปปูพื้นเรียกแขกด้วยข้อหาคอร์รัปชั่น และข้อหาล่อแหลมอ่อนไหวต่างๆ พร้อมกับเปิดตัวแนวคิด ชู "คนดี" สู้กับ"นักเลือกตั้ง"

ถึงวันนี้ การเมืองที่กลายเป็นเรื่องของคนหมู่มาก อาจสร้างความแปลกแยก และไม่สบอารมณ์แก่กลุ่มอำนาจบางกลุ่ม

แต่ความเสียหายจากรัฐประหารเมื่อ 5 ปีก่อน ทำให้ต้องคิดหนัก

ที่ต้องคิดหนักยิ่งไปอีก คือความเสียหายจาก "มวลน้ำ" มหาศาล ที่รอการจัดการและฟื้นฟูอย่างถูกต้อง ทั้งด้วยตัวเองและมิตรประเทศ 

และไม่อนุญาตให้คิดทำสิ่งนอกลู่นอกครรลองได้อีก


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1320236722&grpid=no&catid=02&subcatid=0207

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น