วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ความกล้าหาญของนักนิติศาสตร์ไทยในคดีฉีกบัตรเลือกตั้ง

ความกล้าหาญของนักนิติศาสตร์ไทยในคดีฉีกบัตรเลือกตั้ง

วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เวลา 09:58:41 น.

Share57




โดย เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

"กฎหมายที่แท้จริง คือเหตุผลที่ถูกต้อง"  ซิเซโร


ธรรมดานั้นเมื่อศาลมีคำพิพากษาออกมาแล้วย่อมเป็นที่สุด ไม่ว่าผู้แพ้หรือชนะย่อมเคารพในคำตัดสินและหลีกเลี่ยงที่จะวิจารณ์ แต่เมื่อศาลแขวงพระโขนงได้ตัดสินยกฟ้องคดีฉีกบัตรเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา

 

ผู้เขียนเห็นว่า คำพิพากษานี้มีปัญหาอย่างยิ่ง สมควรที่จะหยิบยกขึ้นมาวิจารณ์ให้กระจ่าง โดยเมื่อตั้งสมมติฐานไว้แล้วว่า การตัดสินนั้น ตุลาการได้ดำรงความเที่ยงธรรมเป็นกลาง ปราศจากอคติทั้งปวง สิ่งที่จะหยิบยกมาพิจารณาจึงเหลือแต่วิธีการให้เหตุผลดังนี้


๑.แบบพิมพ์บัตรเลือกตั้ง

 

เนื่องจากการเลือกตั้งวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ นั้น มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๙ /๒๕๔๙ ว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุว่าผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการเลือกตั้งนั้น ปฏิบัติหน้าที่ไม่เที่ยงธรรม สิ่งที่จำเลยฉีกไปจึงมิใช่บัตรเลือกตั้ง แต่เป็นเพียงแบบพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ไม่มีความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งแต่อย่างใด


ถ้าการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้วเกิดผลข้างต้นขึ้น การกระทำผิดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งก็ไม่ควรจะผิดได้เลย เพราะเมื่อไม่ใช่การเลือกตั้งเสียแล้ว การซื้อเสียงครั้งนั้นจึงไม่ใช่การซื้อเสียง เป็นเพียงการแสดงท่าทางการซื้อเสียงเท่านั้น


จนถึงที่สุด ถ้าใช้ตรรกกะเช่นนี้ พรรคไทยรักไทยก็ไม่ควรถูกยุบ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสิ้นผลไปแล้ว การจ้างพรรคเล็กลงสมัครจึงไม่เป็นความผิด


๒. สันติวิธีและการได้มาซึ่งอำนาจโดยวิธีทางนอกรัฐธรรมนูญ


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๖๕ ซึ่งให้สิทธิประชาชนชาวไทยที่จะ "ต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้" ได้ถูกนำมาอ้างเป็นฐานในการต่อสู้คดี และศาลชั้นต้นก็ได้ใช้สิทธิตามมาตราดังกล่าวมายกเว้นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ไป


ในเหตุผลข้อนี้ต้องวิเคราะห์ในสองประเด็น คือ การต่อต้านโดยสันติวิธีและการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

 

๒.๑ การต่อต้านโดยสันติวิธี


คำถาม คือ สันติวิธีนั้นสามารถผิดกฎหมายได้หรือไม่


แน่นอนว่า การกระทำผิดกฎหมายที่ก่อความรำคาญหรือเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้อื่นไม่ใช่สันติวิธี อาทิ การยิงลูกระเบิด การชุมนุมปิดสนามบิน หรือแม้กระทั่งการขับรถแท๊กซี่ชนรถถังของคณะรัฐประหาร


แน่นอนว่า การแสดงออกซึ่งความไม่เห็นด้วยโดยไม่ผิดกฎหมายและไม่สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่บุคคลอื่น ย่อมเป็นการกระทำโดยสันติวิธี เช่น การอดข้าวประท้วง การชูป้ายข้อความ


แล้วารกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ไม่สร้างความเสียหายแก่บุคคลใดโดยเฉพาะ นอกจากความสงบเรียบร้อยของรัฐและความมั่นคงในกฎหมาย เป็นการกระทำโดยสันติวิธีหรือไม่


ในความเห็นผู้เขียนแล้ว "สันติวิธี" ของรัฐธรรมนูญนั้น ต้องเป็นสันติที่คู่ไปกับความชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถตีความแยกออกจากกันได้ มิเช่นนั้นคงเป็นการตีความที่ให้ผลประหลาดและทำลายตัวของมันเอง


รัฐธรรมนูญคงมิได้มีเจตนารมณ์ จะให้คนทำผิดกฎหมายกระมัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงหลักนิติธรรมที่ประเทศประชาธิปไตยพึงมีแล้ว การกระทำไม่ว่าจะของรัฐหรือเอกชน ล้วนแต่ต้องชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น

 

๒.๒ การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ


โชคดีเป็นอย่างยิ่งที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๙/๒๕๔๙ เห็นว่า การเลือกตั้งครั้งนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะไม่สุจริตเที่ยงธรรม และคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรรมนูญที่ ๓-๕/๒๕๕๐ เห็นว่า การกระทำของพรรคไทยรักไทย เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้ศาลสามารถอ้างว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิต่อต้านตามมาตรา ๖๕ ได้อย่างมั่นใจ


แต่กระนั้นก็ดี มีข้อโต้แย้งดังนี้


ประเด็นที่หนึ่ง ถ้าไม่มีการส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน การเลือกตั้งครั้งนี้ย่อมไม่เสียไปตามกฎหมาย ถ้าเป็นเช่นนี้ ศาลจะตัดสินอย่างไร แสดงว่า จำเลยคดีนี้โชคดีใช่หรือไม่ ในขณะที่คนที่ฉีกบัตรในการเลือกตั้งครั้งอื่นไม่โชคดีเท่านี้ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง การฉีกบัตรก็ไม่ต่างจาการพนัน ว่า หลังจากฉีกแล้วจะมีคนนำคดีขึ้นสู่ศาลหรือไม่


ประเด็นที่สอง การได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนั้น ที่จริงต้องมีลักษณะเช่นใด


ประเด็นนี้สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการตีความเรื่องนี้เป็นอัตวิสัยสูง การทุจริตเลือกตั้ง ไม่ว่า จะด้วยเหตุเล็กน้อยเพียงใด รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา ๒๓๗ ล้วนถือเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น


ถ้ายึดตามการให้เหตุผลเช่นนี้ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ถ้ามีคนฉีกบัตรเลือกตั้งเพื่อประท้วงการทุจริตเลือกตั้ง ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่า ต้องมีในการเลือกตั้งทุกครั้งไป บุคคลผู้นั้นจะอ้างเหตุผลนี้ได้หรือไม่


นอกจากนี้ ศาลพึงสังวรด้วยว่า ลำพังการทุจริตการเลือกตั้งอาจจะมิใช่วิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอีกต่อไปแล้ว เพราะปัจจุบันได้มีการถกเถียงกันอย่างมากเรื่องการแก้ไขมาตรา ๒๓๗ ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น เนื่องจากเห็นว่าเป็นการบัญญัติที่รุนแรงและไม่เป็นธรรมมากเกินไป


เพราะฉะนั้น การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้อาจควรจำกัดเฉพาะการกระทำที่เห็นได้ชัดว่าไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญเลย เช่น การรัฐประหาร ซึ่งก็น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง หากเกิดขึ้นจริงแล้วก็ไม่มีกฎหมายให้สิทธิประชาชนไปต่อต้านอยู่ดี มากกว่าการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม เพราะเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ในการเลือกตั้งครั้งไหนบ้างที่คนโกงจะถูกจับได้และจะมีคำพิพากษายุบพรรคการเมืองออกมาอีก


๓. ทรัพย์ที่ฉีกมีราคาเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น


คำถามประการเดียว ณ ที่นี้ คือ ศาลมีอำนาจพิจารณาด้วย หรือว่าถ้าทรัพย์มีราคาเล็กน้อยแล้วยกฟ้องได้ มีกฎหมายให้อำนาจศาลไว้ตรงนี้หรือไม่


ทั้งสามประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาพิจารณานั้น มิใช่มุ่งหมายร้องให้นำตัวจำเลยกลับมาลงโทษ ซึ่งจำเลยเองก็พร้อมจะยอมรับโทษทัณฑ์อันพึงมีหากศาลตัดสิน และผู้เขียนก็นับถือในความเป็นคนจริงของท่านยิ่งนัก


แต่แท้จริงทั้งสามประเด็นนี้ล้วนมุ่งไปที่เหตุผลของศาลเองทั้งสิ้น เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลน่าจะเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายคลาดเคลื่อน เหตุผลบางประการไม่สมเหตุสมผล หรือเหตุผลที่ให้นั้นขาดกฎหมายรองรับ


จริงอยู่ที่คำพิพากษานี้ เป็นเพียงคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิใช่คำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานในวงการนิติศาสตร์ไทย

 

แต่ไม่ว่าจะศาลชั้นไหนก็ไม่ควรมีข้อผิดพลาดเช่นนี้ เพราะในสังคมไทย ไม่ใช่ทุกคดีจะขึ้นสู่ศาลฎีกา มิเช่นนั้น ความยุติธรรมจะเกิดได้อย่างไร


น่าเสียดายที่ด้วยระยะเวลาอันจำกัด ผู้เขียนจึงไม่อาจค้นหาคำพิพากษาฉบับเต็มได้ และไม่สามารถค้นหาได้ว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา หรือการลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีคนฉีกบัตรแล้วโดนลงโทษไปมากน้อยเท่าใด


ในบางครั้งตุลาการอาจได้รับคำแนะนำจากสังคมให้คำนึงถึง "ความเหมาะสม" "หลักรัฐศาสตร์" หรือ "ความเป็นธรรมเฉพาะคดี" บ้าง แต่ไม่ว่าอย่างไร หลักก็คือหลัก หน้าที่คือหน้าที่ โดยเฉพาะในยามนี้ที่บ้านเมืองวุ่นวายมิใช่เพราะทุกคนทิ้งหน้าที่ ทิ้งหลัก ปล่อยให้ตัวเองไปตามกระแสความรู้สึกอันเชี่ยวกรากมิใช่หรือ

 

เพราะฉะนั้น ตุลาการ ผู้ธำรงระบบกฎหมาย ซึ่งเป็นเสาค้ำจุนรัฐไทยอยู่ จึงยิ่งสมควรมั่นคงในหลักการแห่งวิชาชีพและวิชาการของตนมากยิ่งกว่าช่วงเวลาไหน ๆ ในประวัติศาสตร์


มิเช่นนั้น อาจจะถึงเวลาที่เราต้องหยุดเรียกร้องหา "ความกล้าหาญ" ของนักนิติศาสตร์ไทยเสีย เพราะเมื่อความกล้าหาญถูกสำแดง มันกลับทำลายความน่าเชื่อถือแห่งวงการนิติศาตร์ไทยเอง

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1289357607&grpid=&catid=02&subcatid=0207

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น