วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

70 ปี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 อ่านกฎหมายเก่านั่งคุยกับคณะนิติราษฎร์ (1)

 

70 ปี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 อ่านกฎหมายเก่านั่งคุยกับคณะนิติราษฎร์ (1)

ตอนที่ ในอ้อมอกคณะราษฎร

 

"ลักษณะสำคัญของ Enlightenment คือ การเกิดความเคลื่อนไหวทางความคิดในทุกแขนงวิชา โดยการเคลื่อนไหวทางความคิดดังกล่าวมีลักษณะเป็นการตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์ การสงสัยต่อสิ่งที่ยอมรับเด็ดขาดเป็นยุติ ห้ามโต้แย้ง ห้ามคิดต่าง เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือคำสอนทางศาสนา ทั้งนี้โดยที่ถือว่า "เหตุผลมีคุณค่าเท่าเทียมกับ "ความดี"

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ [1]

 

"ถ้าเห็นว่าเจ้าคณะไม่เป็นธรรมก็ให้ไปอยู่เสียที่อื่นจากจังหวัดนครนายกและมณฑลปราจีนบุรี"

แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม 22 (2477), 
เรื่องคำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ของคณะสงฆ์และราษฎรจังหวัดนครนายก, น.14

 

"ถ้ามีใครสักคนโกรธใครมาก็ไม่รู้ไม่ได้ดั่งใจเรื่องอะไรมาก็ไม่รู้ แล้วก็พาลมาลงที่พ่อ เกลียดพ่อ ด่าพ่อคิดจะไล่พ่อออกจากบ้าน ผมจะเดินไปบอกไปบอกกับคนๆ นั้นว่า ถ้าเกลียดพ่อไม่รักพ่อแล้ว จงออกไปจากที่นี่ซะ เพราะที่นี่คือบ้านของพ่อ ..."

พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง 
กล่าวใน พิธีมอบรางวัล "นาฏราช" ครั้งที่ 1 ประจำปี 2552 16 พฤษภาคม 2553

 

000

เนื่องในโอกาสที่ ครบรอบ 1 ปี คณะนิติราษฎร์และ 5 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กลุ่มนักวิชาการด้านกฎหมายเพียงหยิบมือ ได้กระทำในสิ่งที่ไม่มีผู้ใดทำได้มาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย นั่นคือ ใช้อำนาจของปัญญาเหตุผลนำเสนอการล้มล้างรัฐประหาร ด้วยข้อเสนอให้ผลจากการรัฐประหาร 2549 เสียเปล่า นอกจากเป็นคำประกาศที่อหังการ และยืนหยัดอยู่กับอำนาจอธิปไตยของราษฎรที่ถูกปล้นชิงเรื่อยมาแล้ว การจุดไฟกลางสายลมนี้ ยังถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นสาธารณะอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ด้วยว่าทั้งเสียดแทงใจดำ ทั้งถูกอกถูกใจ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการรัฐประหารครั้งล่าสุด ความสำคัญของข้อเสนอหาได้อยู่ที่ความสมบูรณ์พร้อม และเป็นตัวแบบสำเร็จรูปที่จะทำให้เราหยุดยั้งรัฐประหารได้ชั่วกัลปาวสานไม่ แต่อยู่ที่พลังของมันได้เคลื่อนออกมาสู่ปริมณฑลสาธารณะแล้ว ทั้งยังลากให้ผู้เกี่ยวข้อง ผู้สนใจได้ลงสนามมาเป็นผู้เล่นกันอย่างอึกทึก ผู้เขียนมีความเห็นว่า สิ่งหนึ่งที่จะทำได้นอกจากการประกาศตัวสนับสนุนคณะนิติราษฎร์ในหน้า Facebook แล้ว การเขียนบทความขึ้นมาสนองสิ่งที่นิติราษฎร์เสนอ ก็คงจะช่วยกันต่อยอดแตกแขนงแนวคิด "โรลล์แบ็ค" ไปสู่สังคมที่ประชาธิปไตย ที่มีหลักการและโต้แย้งกันด้วยเหตุผล ไปสู่สังคมที่บรรลุนิติภาวะ ไปสู่การก้าวพ้นจากสังคมลูกแหง่ที่จำนนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระ พ่อ แม่ และผู้ใหญ่โดยไร้ซึ่งคำถาม

ในฐานะที่ผู้เขียนสนใจเรื่องพระๆ เจ้าๆ ตลอดจนเรื่องเก่าเรื่องแก่เป็นทุนเดิม จึงขอร่วมขบวนความเคลื่อนไหวทางความคิดในแขนงนี้เพื่อนำไปสู่การวิพากษ์ สงสัยต่อสิ่งที่เรียกว่า ความไม่เป็นประชาธิปไตยในคณะสงฆ์ไทย โดยอาศัยความเข้าใจในบริบททางประวัติศาสตร์ของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ว่ากันว่ากฎหมายฉบับนี้ มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่ประเทศนี้เคยบัญญัติกฎหมายมา และอาจกล่าวว่า เราไม่อาจเข้าใจคณะสงฆ์ไทยได้เลยหากเราละเลยประวัติศาสตร์การต่อสู้ในสังคมสงฆ์ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้น ในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีอายุครบรอบ 70 ปี ได้แต่หวังใจว่า การเสื่อมมนต์ขลังของมายาคติ 14 ตุลา 16 อาจทำให้เรื่องอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในวันเดียวมีความสำคัญขึ้นมา และเป็นโภชน์ผลให้แก่ประชาชน เจ้าของอธิปไตยของประเทศได้พอๆกัน หรือมากกว่า 14 ตุลา 16 อนึ่ง บทความนี้มีความซับซ้อนและยืดยาวจนผู้เขียนไร้ความสามารถที่จะตัดใจให้จบในรูปบทความสั้นๆบทความเดียว จึงขอแบ่งเป็น 2 ส่วน บทนี้คือส่วนแรกที่จะฉายให้เห็นกระบวนการก่อกำเนิด และส่วนที่สอง จะว่าด้วยมรณกรรมของพระราชบัญญัตินี้

 

แบบจำลองสังคมการเมืองไทย ใน กฎหมายคณะสงฆ์

การเมืองในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2484 นั้นเป็นแบบจำลองที่สะท้อนสังคมไทยได้เป็นอย่างดี พ.ร.บ.ฉบับนี้ อาจนับว่าอยู่ในฐานะเดียวกันกับรัฐธรรมนูญที่ว่ากันว่ามีความเป็นประชาธิปไตยสูง นั่นคือ ฉบับปี 2475 และปี 2489 กฎหมายเหล่านี้แม้จะเป็นนวัตกรรมของระบอบประชาธิปไตยที่สถาปนาขึ้นโดยมีความหวังว่าจะอยู่คู่กับสังคมไทยไปจนชั่วนิรันดร์ แต่ก็ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานทางอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเผด็จการ อำนาจนิยม อนุรักษ์นิยม ที่ไม่ละอายในการละเมิดกติกาครั้งแล้วครั้งเล่า จนต่อต้านไม่ไหวและพังทลายพ่ายแพ้ในเวลาต่อมา

ก่อนจะเข้าฉากสำคัญ เราต้องเข้าใจถึงการสถาปนาความสัมพันธ์ของรัฐกับคณะสงฆ์ในการสถาปนารัฐสยามรัฐชาติสมัยใหม่เสียก่อน

 

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ.121 : Made in Absolute Monarchy

หัวใจของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในฐานะที่เป็นรากฐานของรัฐชาติสมัยใหม่ของสยามนั้นคือ การรวมศูนย์อำนาจการปกครองและการดูดกลืนทรัพยากรเข้าส่วนกลางโดยมี กษัตริย์ ณ กรุงเทพมหานคร เป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ ระบอบนี้ได้สร้างความสัมพันธ์ชุดใหม่ระหว่างองค์รัฏฐาธิปัตย์ กับอำนาจดั้งเดิมที่อยู่ชายขอบ ไม่ว่าจะเป็นหัวเมืองชั้นใน ชั้นนอก และหัวเมืองประเทศราชโดยกลไกต่างๆ ทั้งระบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ทั้งการปรับระบบควบคุมกำลังคน การปฏิรูประบบภาษีใหม่ ให้มาขึ้นอยู่กษัตริย์โดยตรง แทนที่จะผ่านตัวแทน ก๊กกลุ่มขุนนางต่างๆ ทั้งในระดับราชสำนักและหัวเมือง

กลไกสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ สร้างความชอบธรรมผ่านอำนาจการจัดการเรื่องความรู้ การจัดการศึกษาในด้านหนึ่งก็เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ราษฎรในการอ่านเขียน และไต่เต้าในด้านอาชีพการงาน แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการกล่อมเกลาสร้างความภักดีแก่รัฐสยามใหม่ที่กำลังเติบโต เครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลสยามตรองเป็นอย่างดีแล้วนั่นก็คือ สถาบันสงฆ์ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐเข้าไปมีบทบาทในการจัดการวัด และใช้วัดเป็นฐานสร้างความชอบธรรมมาอย่างยาวนาน แต่ในระบอบใหม่นี้ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในการจัดการ มีโครงสร้างที่ชัดเจน มีการวางสายบังคับบัญชาที่แน่นอน ตามหลักการปกครองราชการแบบอย่างเจ้าอาณานิคมที่รัชกาลที่ 5 ได้แบบอย่างมาจากประเทศใต้อาณานิคมอังกฤษ

ดังนั้นการเถลิงอำนาจอาณาจักรเหนือพุทธจักรอย่างชัดเจนและจริงจัง จึงเริ่มขึ้นอย่างแนบเนียนด้วยการส่งให้พระราชาคณะไป "จัดการศึกษา" ตามวัดในหัวเมือง โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นผู้รับผิดชอบ ตั้งแต่ปี ร.ศ.117 (พ.ศ.2441) คู่ไปกับการจัดการศึกษาของฝ่ายฆราวาสโดย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ[2]

ในฝ่ายอาณาจักรได้มีการตรากฎหมาย พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 (พ.ศ.2440) ส่วนฝ่ายพุทธจักรก็มี พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ.2445)[3] สาระสำคัญในพ.ร.บ.ตัวหลังก็คือ การเข้าไปจัดการควบคุมอำนาจในเชิงพื้นที่ และการแต่งตั้งบุคลากรที่ไว้ใจได้ด้วยระเบียบสมัยใหม่ที่มีสายบังคับบัญชาที่ชัดเจน เพื่อง่ายต่อการปกครองจากส่วนกลาง โดยเฉพาะการสถาปนาอำนาจผ่านกฎหมายที่ในตัวบทกำหนดให้รัฐบาลส่วนกลางสามารถให้คุณให้โทษกับสงฆ์ในท้องถิ่น และยังเปลี่ยนพระสงฆ์ให้มีสถานะกึ่งข้าราชการไปเสียด้วย นอกจากนั้นยังมีผู้ให้ความเห็นว่า กฎหมายนี้เป็นการทำลายความสัมพันธ์ 3 เส้าคือ รัฐ-วัด-ชุมชน ด้วยการตัดส่วนที่เรียกว่า ชุมชน

การออกแบบโครงสร้างเชิงอำนาจนี้ อีกสาเหตุหนึ่งก็เพื่อใช้แก้ไขปัญหาภายในวงการสงฆ์เอง ซึ่งไม่แข็งแรงพอที่จะควบคุมพฤติกรรมที่เสื่อมเสียของพระ เพราะว่าในสายตาของชนชั้นนำแล้ว การเกิดคดีที่ฉาวโฉ่ของพระอย่างไม่ได้หยุดหย่อน ถือได้ว่ามันเป็นความอ่อนแอที่สั่นคลอนความมั่นคงของฝ่ายอาณาจักรอีกด้วย

ภาพซ้าย แสดงให้เห็นกลุ่มที่เข้าร่วมการประชุมมณฑลเทศาภิบาล นำโดย สมเด็จฯ กรมดำรงราชานุภาพ ระบบเทศาภิบาล มีฐานะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างรัฐชาติในส่วนภูมิภาค ที่มา: udclick.com

ภาพขวา ซุ้มรับเสด็จร.5 หลังจากนิวัตพระนคร แสดงความยิ่งใหญ่มั่งคั่งที่มีเบื้องหลังจากการดูดกลืนทรัพยากรจากหัวเมืองต่างๆ

 

เป็นพระ-เป็นเจ้า
โครงสร้างการปกครองอันไม่เป็นธรรม

ในวงการพุทธศาสนานั้น ได้มีความขัดแย้งภายในดำรงอยู่เรื่อยมา แต่คู่ขัดแย้งที่เด่นชัดที่สุดหลังจากสถาปนารัฐสมัยใหม่นั่นคือ ขั้วของสงฆ์สองนิกายคือ มหานิกายที่อยู่มาแต่เดิม กับ ธรรมยุติกนิกาย ในมุมของฝ่ายหลังนั้นมีพลังและแรงผลักดันอันมุ่งมั่นในการจะสถาปนาพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ น่าเลื่อมใส สมสมัย มีความเป็นเหตุเป็นผลและเป็นวิทยาศาสตร์ขึ้น โดยผู้นำคือ วชิรญาณภิกขุ (เจ้าฟ้ามงกุฎ) ในอีกด้านคณะสงฆ์ใหม่นี้ก็เป็นฐานอำนาจทางการเมืองใหม่ระหว่างที่อยู่นอกราชบัลลังก์ด้วย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าพระธรรมยุตนั้นมากับเส้น ที่มีรัชกาลที่ 4เป็นองค์อุปถัมภ์ใหญ่

ความบาดหมางดังกล่าวถูกบ่มเพาะขึ้นด้วยดูถูกจากฝ่ายธรรมยุติกนิกาย โดยเฉพาะหลังจากที่รัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์แล้ว ได้มีการชี้ผิดในพระมหานิกายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนต์ในการอุปสมบทไม่ถูก บวชในสีมาไม่ถูก ครองผ้าไม่ถูก มีวงศ์ที่เสื่อมมาตั้งแต่เสียกรุงครั้งที่สอง และมีประพฤติทราม[5] ความอึดอัดและมีท่าที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันได้รับการบ่มเพาะมาตั้งแต่ครั้งนั้น ความบาดหมางได้รับการบอกเล่าและสืบทอดมาอย่างเป็นระบบ ในที่นี้ขอประกาศให้เห็นอคติว่า ผู้เขียนใช้หลักฐานส่วนใหญ่อ้างอิงจากงานเขียนของพระหรืออดีตพระในค่ายมหานิกาย จึงมิอาจปฏิเสธภาพลบต่อธรรมยุตที่เกิดจากการอ้างอิงงานเหล่านี้ด้วย

พ.ร.บ.ลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ.121 ถูกตราขึ้นเป็นกลไกของรัฐสยามในการจัดการอำนาจการปกครองสงฆ์อย่างชัดเจน พุทธจักรขึ้นอยู่กับอาณาจักรและกษัตริย์ บนยอดปิรามิดของอำนาจในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้นก็ถูกวางตัวไว้แล้วว่าต้องเป็นพระที่วางใจได้ซึ่งจะเป็นใครไม่ได้นอกจากพระสงฆ์ชั้นสูงจากธรรมยุกตินิกาย ทำให้คณะสงฆ์สยามอยู่ภายใต้การปกครองของฝ่ายธรรมยุตมาอย่างยาวนานถึง 38 ปี นั่นคือ วาระของสมเด็จพระสังฆราชนับแต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส (ปี 2442-2464) และสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (ปี 2464-2480) ข้อสังเกตก็คือ ทั้งสองมีสถานะที่เป็นทั้ง "พระ" และ "เจ้า"

ตั้งแต่สถาปนาธรรมยุกตินิกายขึ้น พระสังฆราชผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองสงฆ์ ก็ตกอยู่กับฝ่ายธรรมยุติกนิกายเสมอมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2442-2480

องค์ซ้าย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (2443-2464)
องค์ขวา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (2465-2480)

คณะสงฆ์หลังการปฏิวัติสยาม 2475

การปฏิวัติสยาม 2475 ได้รับการพิสูจน์ทางประวัติศาสตร์แล้วว่า ไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงแบบชิงสุกก่อนห่ามของคนเพียงหยิบมือ แต่มีเชื้อพันธุ์ของการปฏิวัติที่ถูกบ่มเพาะมาแล้ว และไม่ใช่เพียงคนหยิบมือ แต่ยังกระจายตัวมากไปกว่าในเขตดุสิต หรือในพระนคร พบรายงานว่า พระสงฆ์ สามเณร มีความสนใจและตื่นเต้นที่จะมีรัฐธรรมนูญสำหรับการปกครองพระสงฆ์บ้าง และพระเหล่านั้นต่างเรียกร้องเสรีภาพ ความเสมอภาคให้ที่จะให้พระสังฆราชอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับกษัตริย์ โดยเรียกร้องผ่านการอภิปรายในวัด บางแห่งก็รายงานว่า มีความตื่นตัวของพระสงฆ์ โดยพบว่าพระสงฆ์จำนวนหนึ่งเขียนจดหมายถึงรัฐบาลแสดงความยินดี และชื่นชมรูปแบบการปกครองแบบใหม่ พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงคณะสงฆ์ให้สอดคล้องกับรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตย[6] เหล่าพระผู้ใหญ่ก็ล้วนตระหนักดีถึงความขัดแย้งในวัดระหว่างพระลูกวัดและเจ้าอาวาส ถึงกับมีการประกาศเตือนมายังเจ้าอาวาส ในแถลงการณ์คณะสงฆ์ ปี 2475[7]

 

ความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยหลังกบฏบวรเดช 2476

ความขัดแย้งของกลุ่มอนุรักษ์นิยมกับคณะราษฎรถึงคราวไม่อาจประนีประนอมและแตกหักกัน จากเหตุการณ์ การประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และปิดสภาโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งถูกตอบโต้ด้วยการการยึดอำนาจคืนเพื่อรักษาระบอบรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรที่นำโดย พระยาพหลพลพยุหเสนา และไปจบลงที่การนองเลือดและการปราบกบฏบวรเดชอันเป็นตัวแทนของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในปี 2476 ห้วงเหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้ชัยชนะในยกแรกของคณะราษฎรที่สามารถรักษาจิตวิญญาณของระบอบรัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้นมาใหม่ได้สำเร็จ หลังการปราบกบฏบวรเดชและการชำระความยุ่งยากของฝ่ายปฏิปักษ์แล้ว[8] ได้สร้างความมั่นใจต่อมหาชนถึงสถานะที่มั่นคงยั่งยืนของระบอบใหม่นี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อความมั่นใจดังกล่าวได้ส่งผลต่อกลุ่มก้อนทางการเมืองที่จะเรียกร้องให้สังคมของตนมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ในที่นี้คือ กลุ่มพระสงฆ์


ภาพประชาชนร่วมยินดีกับคณะราษฎรที่ปราบกบฏบวรเดชปี 2476
(ที่มาภาพ: จาก Facebook ของคุณ Heaven Love)

 

คณะสงฆ์และการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม

ความมั่นใจในระบอบใหม่ที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น อาจส่งพลังให้แก่พระภิกษุหนุ่มที่ต้องการจุดประกายความเปลี่ยนแปลงจากความขัดแย้งและความอึดอัดจากการถูกกดขี่ การต่อสู้และความขัดแย้งภายในวัดที่ระเบิดออกมาเป็นระยะซึ่งเราพบหลักฐานอยู่ 3 กรณี นั่นคือ กรณีวัดปทุมคงคา ปี 2475 กรณีวัดปทุมวนาราม ปี 2476 และกรณีวัดดวงแข ปี 2477 ทั้งหมดถือได้ว่าเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในดงขมิ้นของพระสงฆ์รุ่นใหม่ และไม่ได้เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างนิกายเพียงอย่างเดียว[9] แต่เป็นการเรียกร้องในฐานะของอุดมการณ์ของยุคสมัย

ที่วัดปทุมคงคา วาบประกายไฟของการเปลี่ยนแปลง เกิดจากการที่พระลูกวัดคิดล้มเลิกระเบียบการสอบคัดเลือกนักเรียนธรรมและบาลีสนามหลวง แต่เจ้าอาวาสไม่ยินยอม จนเกิดเหตุวุ่นวายอันมาจากการที่พระลูกวัดขว้างปากุฏิ แน่นอนว่า อาการลามปามไม่เคารพที่ต่ำที่สูงเยี่ยงนี้ส่งผลให้มหาเถรสมาคม ผู้ทรงอำนาจสูงสุดสั่งขับไล่เหล่าพระดังกล่าวออกจากความเป็นพระศาสนา (บัพพาชนียกรรม) แต่เหตุการณ์ก็ยังได้ลามต่อเนื่องมายังวัดปทุมวนาราม ซึ่งก็เกิดเหตุการณ์ที่พระลูกวัดต่อต้านเจ้าอาวาสเช่นกัน มหาเถรสมาคมส่งพระผู้ใหญ่ไประงับเหตุ สั่งการให้สึกลูกวัดและให้พระรูปดังกล่าวที่เข้ามาแก้ไขปัญหาครองวัดเป็นเจ้าอาวาส ขณะที่วัดดวงแข พระรูปหนึ่งเดิมอยู่วัดปทุมวนารามที่เคยต้องคดีมาแล้ว ก็ได้ก่อเหตุขึ้นอีก ครานี้พระดังกล่าวดื้อแพ่งไม่ยอมสึก คณะธรรมยุตอันเป็นต้นสังกัดของวัดดวงแข เห็นว่าวัดนี้ไม่อาจปกครองได้ และน่าจะด้วยอคติเป็นทุนเดิม เมื่อพบว่าวัดนี้ภิกษุส่วนใหญ่เป็นชาวอีสานจึงทำการยุบวัดเสีย (อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาชาวบ้านก็ได้ทำการฟื้นวัดนี้ขึ้นมาอีกครั้ง) เหตุผลการลงโทษ เราอาจสรุปได้จากพระดำรัสของสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำที่

"...ไม่เคารพนับถือประมุขสงฆ์...เป็นทางที่จะให้คณะสงฆ์แตกกันเป็นคณะ ซึ่งเป็นอาการแห่งสังฆเภทอนันตริยกรรม มีโทษอย่างหนัก" [10]

 

การลงโทษอย่างหนักนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการใช้อำนาจแบบเผด็จการของคณะสงฆ์ ขณะที่ในทางโลกได้เปลี่ยนมาสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว หนักข้อไปกว่านั้นก็คือ การแสดงความเห็นของพระสังฆราชที่ตอกย้ำลักษณะอำนาจนิยมของสังคมสงฆ์ ผ่านตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด นั่นก็คือ การชี้ให้เห็นว่าในรั้ววัดแล้ว เจ้าอาวาสเป็นขาใหญ่ที่มีอำนาจมากที่สุด สามารถลงโทษพระลูกวัดหนักเท่าไหร่ก็ได้ แม้พระลูกวัดไม่มีความผิด ก็สามารถไล่ออกจากวัดไปได้ เรามาดูตัวบทที่กล่าวถึงกัน

"...เจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแลวัด ลูกวัดมีผิดเล็กน้อยถูกลงโทษหนักเกินไปก็ไม่เห็นเป็นไร ทนไม่ไหวไปอยู่เสียที่อื่น หรือลูกวัดไม่มีผิดเลย แต่เจ้าอาวาสไม่ต้องการให้อยู่ ก็บังคับไม่ให้อยู่เสียได้ ไม่เห็นเจ้าอาวาสผิดอย่างไร ไม่ใช่ลูกวัดไม่มีผิดแล้วเจ้าอาวาสไม่ให้อยู่ในวัดตนไม่ได้..." [11]

 

จาก "คณะปฏิวัติ" สู่ "คณะปฏิสังขรณ์ฯ"อหังการแด่ความเสมอภาค

ก่อนปฏิวัติสยาม 2475 ปรีดี พนมยงค์ และพรรคพวกที่เป็นทั้งพลเรือนและทหารได้เช่าห้องเพื่อใช้ในการประชุมเพื่อเตรียมปฏิวัติ ณ ถนน Rue du Sommarard ในเขต Quartier Latin กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส [12] ในปี2477 ก็พบว่า มีพระสงฆ์หนุ่มสังกัดมหานิกาย จากวัดมหาธาตุ, วัดเชตุพนฯ, วัดเบญจมบพิตร, วัดสุทัศน์ฯ และวัดอรุณ ได้นัดพบกันที่บ้านคหบดี ในเขต อ.บางรัก บ้านหลังนั้นชื่อว่า "ภัทรวิธม" เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2477 ว่ากันว่า จำนวนพระหนุ่มที่เดินทางมีจำนวนกว่า 300 ได้เรียกชื่อคณะผู้ก่อการคราวนี้ไว้ว่า "คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา"

การหารือครั้งนั้นได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ถึงข้อเสนอต่อรัฐเพื่อการเปลี่ยนโครงสร้างของคณะสงฆ์ให้มีความเท่าเทียมกัน มีการประกาศแถลงการณ์และเป็นที่รับรู้ในที่สาธารณะผ่านหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2477 ว่า "...เป็นไปเพื่อความเสมอภาคในการปกครองคณะสงฆ์ และเพื่อการรวมนิกายสงฆ์ให้มีสังวาสเสมอกัน คือให้มีการอุโบสถสังฆกรรมร่วมกัน..." หลังจากนั้นได้มีหนังสือไปเสนอแด่พระผู้ใหญ่และรัฐบาลในภายหลัง [13]

ตัวละครใน คณะปฏิสังขรณ์ฯนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นทั้งพระหนุ่ม ยุวสงฆ์รุ่นแรกที่มีคุณวุฒิแล้ว เช่น พระมหาสนิท (พระธรรมวโรดม-ขณะนั้น) เปรียญ 6 ประโยค พรรษา 23พระมหาสมบูรณ์ (พระธรรมวรนายก) เปรียญ 6 ประโยค พรรษา 26, พระมหาแย้ม (แย้ม ประพัฒน์ทอง) เปรียญ 8 ประโยค พรรษา 26, พระมหาประหยัด (ประหยัด ไพทีกุล) เปรียญ 3 ประโยค พรรษา 22 ซึ่งรวมไปถึงสมเด็จพระสังฆราชปุ่น ปุณณสิริมหาเถระ ในครั้งที่ยังเป็นพระมหาปุ่น เปรียญ 6 ประโยคด้วย อย่างไรก็ดีพบว่าในผู้เข้าร่วมหลักร้อย ยังมีภิกษุหนุ่มและเณรน้อยเข้าร่วมด้วย [14] เราต้องไม่ลืมว่า กบฏบวรเดชนั้นจบลงไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2476 นั่นหมายถึง สังคมในยุคนั้นได้เห็นแล้วว่าอำนาจรัฐในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นธงนำความเสมอภาค ได้รับการปกป้องอย่างจริงจัง การเกิดขึ้นของคณะปฏิสังขรณ์ฯ จึงมี timing ที่สอดคล้องกับบรรยากาศของบ้านเมืองที่สนับสนุนระบอบใหม่นี้อย่างแข็งขันไปด้วย

ว่ากันว่าสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 (2515-2517) 
สมัยยังเป็นพระมหาปุ่น เปรียญ 6 ประโยค 
ก็เคยเป็นสมาชิกคณะปฏิสังขรณ์มาก่อน

แผนการก่อการและนวัตกรรม

เมื่ออ่านกระบวนการก่อกำเนิดคณะปฏิสังขรณ์ฯแล้ว เราจะเห็นว่าช่างเป็นเรื่องเล่าที่เต็มไปด้วยสีสันและอารมณ์ของมนุษย์ โดยเฉพาะโครงเรื่องที่ดูคู่ขนานไปกับการดำรงอยู่ของคณะราษฎรดังที่เทียบเคียงไปบ้างแล้วในฉากที่ปารีส กับบ้าน "ภัทรวิธม" การรวมตัวกันของคณะสงฆ์ เอาเข้าจริงแล้วก่อนจะเกิดภาพเหล่านั้นได้ ก็ต้องมีการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน ในแผนขั้นที่หนึ่งระบุถึงการหาพรรคพวกที่เห็นตรงกัน เริ่มต้นจากการวางแผนให้ภิกษุ 9 รูปมาในงานทำบุญที่บ้าน "สุขมาสถาน" เมื่อพิธีกรรมเสร็จก็มีการปรึกษาปัญหาการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งทั้งหมดล้วนเห็นพ้องว่าควรจะแก้ไขพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ แผนขั้นต่อมาก็ขยายเครือข่าย โดยกำหนดให้แต่ละรูปต้องหาลูกข่ายให้ได้ 10 รูป[15] นี่คือบันทึกหน้าแรก ก่อนที่จะเกิดการพบปะกันที่ บ้านภัทรวิธมที่มีจำนวนพระและสามเณรรวมกว่า 300 และการสื่อสารระหว่างกันที่เป็นนวัตกรรมสร้างสรรค์มากนั่นก็คือ ระหว่างพระภิกษุที่ใช้โอกาสบิณฑบาตตอนเช้า ได้มีเขียนข้อความใส่ในบาตรส่งข่าวกัน ซึ่งพระธรรมวรนายกเรียกวิธีการนี้ว่า "ไปรษณีย์บาตร"[16]

 

ทำไมต้อง "คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา"

ก่อนจะลงตัวในชื่อนี้ เคยมีการเสนอชื่อ "คณะปฏิวัติคณะสงฆ์" "คณะปฏิวัติการพระศาสนา" "คณะปฏิรูปการศาสนา" แต่คำว่า "คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา" ได้มาจาก พระมหาประหยัด ซึ่งได้แนวคิดมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "Restoration" ซึ่งแปลว่า "ปฏิสังขรณ์" คือ ทำสิ่งที่ทรุดโทรมให้กลับคืนดีดังเดิม ว่ากันว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบว่าคำนี้ เนื่องจากเป็นคำกลางๆ เหมาะกับสมณเพศ[17]

 

เหตุและผล แรงจูงใจของคณะปฏิสังขรณ์ฯกับสังคมประชาธิปไตย

หากวัดกันตามจำนวนแล้ว พระสงฆ์ในมหานิกายในปี 2478 นั้น มากมายนับเท่าทวีเมื่อเทียบกับ ธรรมยุติกนิกาย เฉพาะวัดของมหานิกายก็มีถึง 17,305 วัด ขณะที่วัดธรรมยุตมีเพียง 260 วัด[18] การเปลี่ยนแปลงระดับพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน นอกจากทำให้เจ้าทั้งหลายเปลี่ยนสถานภาพมาสู่ความเท่าเทียมกับคนธรรมดาในเชิงทฤษฎีแล้ว ในหมู่สงฆ์มหานิกายเองก็คงใฝ่ฝันถึงวันที่พวกตนจะเท่าเทียมกัน และขึ้นเป็นใหญ่ได้เช่นกัน

หลังปฏิวัติสยามจนถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชในปี 2476 พระสงฆ์ธรรมยุตกลับไม่น่าเป็นที่ไว้วางใจ มีการตั้งข้อสังเกตว่า พระเหล่านี้อาจจะส่งเงินสนับสนุนกลุ่มกบฏบวรเดช อันเนื่องจากความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) กับ นายพลตรีพระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว.อี๋ นพวงศ์) หนึ่งในกองกำลังของเหล่ากบฏบวรเดช[19]

หลังเหตุกบฏบวรเดช รัฐบาลข่มฝ่ายกษัตริย์และเจ้านายให้อยู่ในสถานะที่ตกต่ำเป็นอย่างยิ่ง และแน่นอนว่า มันส่งผลต่ออภิสิทธิ์ของพระธรรมยุตฯ ที่อิงอยู่กับชนชั้นอันสูงศักดิ์ไปด้วย ดังนั้นการที่พระมหานิกายท้าทายกลับคืนไปยังพระธรรมยุตด้วยการเสนอกฎหมายใหม่ จึงมีนัยการต่อสู้ทางชนชั้นเช่นนี้อยู่ด้วย ขณะเดียวกันในระบอบใหม่นี้ ความเป็นประชาธิปไตยได้สร้างความตื่นตัวของคณะสงฆ์ขึ้นอย่างน่าสังเกต

การดำรงอยู่ของพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ.121 ในสายตาของพระสงฆ์บางกลุ่มแล้วเห็นว่ามันขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสำคัญที่สุดของบ้านเมืองเป็นอย่างมาก ด้วยความประทับใจของพระสงฆ์กับระบอบใหม่นี้เราจะเห็นได้ว่า พระสงฆ์เริ่มสร้างคำอธิบายให้เห็นว่า พุทธศาสนานั้นมีความสัมพันธ์กับระบอบที่เกิดขึ้นใหม่ว่า มีความเป็นประชาธิปไตยและเป็นสังคมที่เสมอภาค[20] ปรากฏการณ์ที่กลายเป็นชนวนใหญ่โตหลังจากปัจจัยต่างๆสุกงอมมาแล้ว นั่นก็คือ กรณีของพระญาณนายก ซึ่งถือกันว่า เป็นคดีที่ใหญ่โตที่แสดงให้เห็นการที่พระมหานิกายถูกกระทำจากพระผู้ใหญ่ที่เป็นพระธรรมยุตอย่างไม่เป็นธรรมยิ่ง

 

คดีพระญาณนายก

พระญาณนายก (ปลื้ม) เจ้าอาวาสวัดอุดมธานี อ.วังกระโจม จ.นครนายก เจ้าคณะจังหวัด เกิดความขัดแย้งกับพระผู้ใหญ่จนถูกถอดสมณศักดิ์อย่างไม่เป็นธรรมในปี 2477 [21] โดยผู้พิพากษาความผิดก็คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) ผู้บัญชาการคณะสงฆ์ ปฏิบัติแทนสมเด็จพระสังฆราชเจ้า องค์สูงสุดในมหาเถรสมาคม เหตุการณ์สรุปโดยย่อได้ดังนี้

1.พระราชกวี วัดเทพศิรินทร์ (ธรรมยุติ) เจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี (ในที่นี้ให้ธรรมยุติปกครองมหานิกาย) แต่งตั้งเจ้าคณะแขวง และอุปัชฌาย์โดยมิได้ปรึกษาพระญาณนายกที่เป็นเจ้าคณะจังหวัด จึงถือว่าเป็นการก้าวก่ายอำนาจกัน ข้ามขั้นตอน ทั้งยังเล่นพรรคเล่นพวก และผิดหลักเกณฑ์ แต่พระราชกวีก็ถกเถียงว่าไม่ผิด เนื่องจะพระรูปที่สนับสนุนเป็นพระวิสามัญมีคุณวุฒิพิเศษ และมีตัวอย่างแต่งตั้งเช่นนี้มาแล้วด้วย[22]

2.พระญาณนายกไม่ยอม ได้ทำเรื่องฟ้องไปยังสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (ขณะที่ยังทรงงานได้อยู่) ความขัดแย้งดังกล่าวนำไปสู่การที่พระราชกวีปลดพระญาณนายก โดยให้ขึ้นหิ้งเป็น เจ้าคณะจังหวัดกิตติมศักดิ์ และแต่งตั้งพระมุนีนายกเป็นเจ้าคณะจังหวัดแทน[23]

3.พระญาณนายกยังถูกรุมจากการที่เจ้าอธิการจอน เจ้าคณะหมวดตำบลบ้านเล่า วัดท่าทราย อ.วังกระโจม นครนายก ได้ทำบัตรสนเท่ห์ใส่ความพระญาณนายกว่า เสพเมถุนและยักยอกเงินไว้ให้กับหญิง แต่บัตรสนเท่ห์ถูกจับได้

จึงนำเรื่องฟ้องศาล และพบว่าผิดจริง ให้จำคุกและปรับเงิน แต่ให้รอลงอาญาไว้ก่อน[24]

4.ในขณะเดียวกัน กรณีขึ้นโรงขึ้นศาลนี้ ทำให้พระราชกวี ส่งเรื่องไปฟ้องสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) ในฐานะผู้บัญชาการคณะสงฆ์ ขณะนั้นที่ยังไม่มีการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช พระญาณนายก ถูกตัดสินว่า การกระทำดังกล่าว เป็นการละเมิดสังฆาราชาณัติ เป็นกรณี "เป็นภิกษุฟ้องภิกษุในศาล" ซึ่งมีความผิด โดยเฉพาะในฐานเจ้าคณะจังหวัดที่ควรจะรู้ระเบียบดีจึงถือว่าจงใจฝ่าฝืนและดูหมิ่นพระสังฆราชาณัติ ความผิดสมควรให้สึกแต่ถือว่ามีความดีความชอบ จึงเห็นเพียงถอดสมณศักดิ์ เมื่อ 5 พฤศจิกายน 2477 ขณะที่เจ้าอธิการจอนให้ถอดจากเจ้าคณะหมวดลงเป็นพระอนุจร[25] การให้สึกนั้น นับเป็นโทษรุนแรงมากในระดับเดียวกันกับประหารชีวิตในกฎหมายฝ่ายอาณาจักรเลยทีเดียว

คำพิพากษากรณีนี้ ถูกมองว่าเป็นการตัดสินที่เล่นพรรคเล่นพวก และเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต เหล่าคณะศิษยานุศิษย์และประชาชนที่เคารพนับถือเกิดไม่พอใจระบบการปกครองคณะสงฆ์ที่ "ไม่เสมอภาค" โดยกล่าวหาว่า ระบบดังกล่าวให้อภิสิทธิ์แก่ธรรมยุติปกครองมหานิกายได้ ในขณะที่มหานิกายไม่มีสิทธินั้น จึงยื่นหนังสือประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมจากพระสงฆ์จำนวน 536 รูป 43 วัด ยื่นเรื่องเสนอรัฐมนตรีกระทรวงธรรมการ กล่าวโทษพระราชกวี และพระมุนีนายก เจ้าคณะจังหวัดนครนายกรูปใหม่ ในข้อหาที่ว่าไม่สามารถอำนวยความสงบเรียบร้อยในการปกครองให้เกิดขึ้นและไม่สามารถให้ "ความเสมอภาค" แก่ผู้อยู่ใต้การปกครอง การบริหารทำด้วยความพอใจของตนเป็นประมาณไม่คำนึงถึงความเสื่อมเสียอันจะเกิดแก่ผู้อยู่ใต้ปกครอง จึงขอเปลี่ยนตัวทั้งคู่ให้ออกจากตำแหน่ง การเคลื่อนไหวนั้นมีนัยทางการเมืองนั่นก็คือ การปฏิเสธสิทธิพิเศษแก่คณะสงฆ์ธรรมยุตปกครองคณะสงฆ์มหานิกาย[26]

แต่คำร้องทุกข์เหล่านั้นถูกปฏิเสธโดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) และการที่คณะสงฆ์ของเปลี่ยนตัวเจ้าคณะจังหวัดและเจ้าคณะมณฑลนั้น มหาเถรสมาคมพิจารณาว่า ไม่มีเหตุผลสมควร ทั้งยังย้ำด้วยประโยคที่ฟังคุ้นหูพวกเราในปัจจุบันสมัยมากๆ ว่า

"ถ้าเห็นว่าเจ้าคณะไม่เป็นธรรมก็ให้ไปอยู่เสียที่อื่นจากจังหวัดนครนายกและมณฑลปราจีนบุรีและโปรดให้ยกฎีกาเสีย" [27]

 

ภาพซ้าย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทราวาส (ธรรมยุต) ผู้บัญชาการคณะสงฆ์ขณะนั้น ปฏิบัติการในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

ภาพขวา เหรียญพระญาณนายก (ปลื้ม) วัดอุดมธานี จ.อุทัยธานี (มหานิกาย) ปี 2483

 

กระบวนการทางการเมืองสู่ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484

"...จริงอยู่ถ้ามีผู้พูดว่า แต่ก่อนๆ ทำไมปกครองกันอยู่ได้ อาตมาภาพของเจริญพรว่า เพราะการปกครองบ้านเมืองสมัยก่อนปกครองอย่างแอ็บโซลูดก็จำต้องทนอยู่ แม้จะพูดจะร้องก็ไม่มีใครจัดการได้ที่พูดที่ร้องขึ้นเวลานี้ ก็เพราะเห็นว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยอันแท้จริง แลถ้าพูดถึงวิธีการปกครองของพุทธจักรแล้วเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงทีเดียว แต่หากว่าผู้มีอำนาจได้คิดจัดรูปให้แปรปรวนไปเสีย เมื่อฝ่ายอาณาจักรกลับเปลี่ยนรูปเป็นประชาธิปไตย ฝ่ายศาสนจักรก็จำต้องหมุนตาม และจุดประสงค์อันสำคัญยิ่งของคณะผู้ก่อการปฏิสังขรณ์การพระศาสนามีเพียงเท่านี้..."

สำเนาเอกสารที่ 1/2478, จากพระปลัดเจ๊กถึงพระสารสาสน์ประพันธ์ รัฐมนตรีกระทรวงธรรมการ, 3 เมษายน 2478 อ้างใน ธาราวงศ์-รักศรีวงศ์, เรื่องเดิม, น.191

 

การดำเนินงานของคณะปฏิสังขรณ์ฯ หลังจากพบปะกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกแล้ว ก็ได้วางขั้นตอนการทำงานอย่างเป็นหลักการ ตั้งแต่การเดินเรื่องตามระเบียบและกฎเกณฑ์ การใช้พลังกลุ่มต่อรองทางการเมือง การใช้พลังสื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียง และการผลักดันผ่านนักการเมืองที่มีความสำคัญและเข้าใจหลักการดังกล่าว ซึ่งมีผลออกมาอย่างน่าสนใจ ได้แก่

ขั้นแรก คณะปฏิสังขรณ์ฯ ทำการยื่นเรื่องราวต่อฝ่ายบริหารคณะสงฆ์ตามลำดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นการยื่นหนังสือต่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้บัญชาการคณะสงฆ์, รัฐมนตรีกระทรวงธรรมการ และพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี[28] การดำเนินการดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการกระทำที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่ได้เป็นการลักลอบโจมตีไปที่พระรูปใดรูปหนึ่ง แต่เป็นข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมการเมืองที่ผลัดใบใหม่

ขั้นที่สอง คณะปฏิสังขรณ์ฯ ใช้พลังกลุ่มในการเคลื่อนไหวทั้ง คณะสงฆ์และฆราวาส หลังจากวิ่งเต้นขอเสียงสนับสนุนแล้ว พบว่าในช่วงแรกมีภิกษุในกรุงเทพฯและภูมิภาคสนับสนุนถึง 800 รูปจาก 100 วัด ต่อมาเพิ่มอีก 92 วัด 177 รูป ในที่สุดก็มีคณะสงฆ์ปักษ์ใต้มาสมทบอีก 12 จังหวัด 368 วัด ที่มีมวลชนพระรวม 2,080 รูป[29] ทำให้เห็นว่า ข้อเสนอของคณะสงฆ์ไม่ใช่จำนวนเพียงหยิบมือเดียว และตอกย้ำให้เห็นว่าคณะสงฆ์ตื่นตัวกับการจะมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยนี้มากเพียงใด

ขั้นที่สาม ใช้สื่อมวลชนสนับสนุน คณะปฏิสังขรณ์ฯ น่าจะเล็งเห็นการก้าวเดินไปข้างหน้าจะต้องเป็นหาแนวร่วมในวงกว้าง ขณะนั้นสื่อที่ขยายไปในวงกว้างและมีประสิทธิภาพที่สุดน่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ เราพบว่า มีสื่อที่สนับสนุนคณะปฏิสังขรณ์ ได้แก่ หลักเมือง, ประชาชาติ และไทยใหม่[30]

ขั้นที่สี่ ใช้พลังทางการเมืองสนับสนุน พระมหาประหยัด ก็ได้ขอคำปรึกษาทางแนวคิดจากถวัติ ฤทธิเดช ผู้นำกรรมการหัวก้าวหน้าในสมัยนั้น ซึ่งเป็นเพื่อนของพ่อเขา ถวัติ กับคณะปฏิสังขรณ์ฯส่วนหนึ่ง ได้เข้าพบปรีดีที่บ้านและปรีดีได้แนะนำขุนสมาหารหิตคดีให้ช่วยในการร่างพระราชบัญญัติ ขณะเดียวกันปรีดีก็รับรองความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองว่าจะไม่เข้าไปจับกุมขัดขวาง[31] นับเป็นจุดเริ่มต้นที่เข้าท่า แต่ความสัมพันธ์อันดีกับปรีดี และถวัติ ฤทธิเดชนี้เองทำให้มีความเสี่ยงต่อการถูกปรักปรำว่าเป็นความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ที่ต้องการจะทำลายล้างพุทธศาสนา

ภาพซ้าย ถวัติ ฤทธิเดช (2437-2493) ผู้นำกรรมกรหัวก้าวหน้า ผู้เป็นที่ปรึกษาคณะปฏิสังขรณ์ฯ

ภาพขวา ปรีดี พนมยงค์ (2443-2526) ขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็สนับสนุนคณะปฏิสังขรณ์ฯด้วย

 

อุปสรรคบ่มี ประชาธิปไตยบ่เกิด

เฉกเดียวกับการดำเนินการปฏิวัติของคณะราษฎร นั่นคือ แรงต้านจากผู้กุมอำนาจอยู่เดิมอันเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม อย่าลืมว่า คณะปฏิสังขรณ์ฯ ไม่สามารถใช้กำลังอาวุธเพื่อยึดอำนาจในการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่พระแต่ละรูปก็ไม่มีอำนาจในการปกครอง ไม่มีอำนาจทางการเงินมากพอ หลังจากที่คณะปฏิสังขรณ์ฯ เปิดตัวในสื่อหนังสือพิมพ์และยื่นหนังสือไปยังผู้มีอำนาจทางการเมืองและคณะสงฆ์ แรงปฏิกิริยาดังกล่าวมีพลังในการบ่อนเซาะขบวนการของพระรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก

อุปสรรคแรก คือ การลาออกของพระวิสุทธิสมโพธิ (เจีย) ขณะที่พระรุ่นใหม่ต่อสู้อย่างเปิดเผย แต่สิ่งที่ฝ่ายอำนาจเก่าถนัดก็คือ การใช้อำนาจในการล็อบบี้ พบว่า พระราชธรรมนิเทศ อธิบดีกรมธรรมการ ฆราวาสผู้ดำรงตำแหน่ง นายกพุทธสมาคมฯในขณะนั้น (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2476-2479) ได้โน้มน้าว พระวิสุทธิสมโพธิ (เจีย) ให้ลาออกจาก ประธานคณะปฏิสังขรณ์ฯ บ้างก็ว่า พระราชธรรมนิเทศ ส่งคนมาข่มขู่ ทำให้พระวิสุทธิสมโพธิ (เจีย) แถลงการณ์ปฏิเสธว่ามีส่วนในคณะปฏิสังขรณ์ ทำให้รองประธาน และคณะกรรมการอีกหลายคนลาออกตามไปด้วย[32] ถ้อยแถลงบางส่วนยังเป็นผลลบต่อคณะปฏิสังขรณ์ นั่นคือ

"...จึงเป็นการเหลือบ่ากว่าแรงที่อาตมาภาพจะยื่นมือเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยการนอกหน้าที่ซึ่งไม่ใช่สันติวิธี ขัดกับพระพุทโธบายเนื่องด้วยการบริหารคณะสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง..." [33] (ขีดเส้นใต้โดยผู้เขียน)

 

สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นถึงการจัดองค์กรหลวมๆ ของคณะปฏิสังขรณ์ฯที่ขาดเอกภาพ แม้คณะสงฆ์จะมีไฟฝันที่ลุกโชนเพียงใด แต่ยังไม่สามารถรวมตัวกันอย่างได้แข็งขัน ในด้านหนึ่งก็เพราะว่า ในคณะปฏิสังขรณ์ฯ มีอยู่หลายกลุ่มที่ไม่เคยร่วมงานกันมาก่อน ยังไม่ต้องนับถึงว่าเคยร่วมทุกข์ร่วมสุข มีแต่เพียงความไม่พอใจการปกครองสงฆ์ร่วมกันที่เป็นธงนำร่วมกัน นอกจากนั้นการเลือกตำแหน่งประธานก็พิจารณาจากคุณวุฒิที่ระดับ "เปรียญ" การขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้ไม่มีเวลาที่สั่งสมอุดมการณ์และความเข้าใจร่วมกัน[34] จึงไม่สามารถทัดทานการโจมตีเป็นรายบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวกันว่า คณะปฏิสังขรณ์ฯ ก็ยังเดินหน้าต่อไปแบบไม่มีหัว ไม่มีประธาน รองประธานอยู่หลายเดือน[35]

ข้อที่สอง การต่อต้านของมหาเถรสมาคมและกระทรวงธรรมการ นอกเหนือไปจากการขู่บังคับให้พระวิสุทธิสมโพธิ (เจีย) ลาออกแล้ว ยังมีเรื่องที่น่าละอายก็คือ การพิจารณาลงโทษภิกษุผู้เข้าชื่อ[36] ยิ่งหากเป็นวัดปกครองโดยภิกษุธรรมยุตแล้ว คณะปฏิสังขรณ์ฯ ยิ่งถูกกระทำดังเป็นจำเลยคดีอุกฉกรรจ์ เช่น นำตัวไปกักขังในโรงธรรมศาลา ห้ามเยี่ยม ทรมานให้อดฉันเพล และให้อดฉันน้ำ สอบสวนนอกประเด็น แม้เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาณาจักรส่วนภูมิภาคระดับอำเภอและจังหวัด ยังปฏิบัติต่อพระผู้เป็นจำเลยอย่างไม่มีสัมมาคารวะ ให้พระยืนบนพื้นดิน แล้วพวกตนไปยืนบนโต๊ะกล่าวกระทบกระเทียบ [37] พบว่าพระระดับแกนนำของคณะปฏิสังขรณ์ฯ หลายรูปยังถูกบีบคั้นในรูปแบบต่างๆ จนเจ้าอาวาสตัดสินใจส่งไปจำพรรษา ณ วัดต่างจังหวัด เช่น พระมหาสนิธ เขมจารี วัดพระเชตุพนฯ ให้ไปอยู่ราชบุรี พระมหาทองสุก สุทสฺโส วัดมหาธาตุไปสระบุรี พระมหาสมบูรณ์ จนฺทโก วัดมหาธาตุไปนครนายก[38]

เพื่อการจัดการขั้นเด็ดขาดมากขึ้น มหามกุฏราชวิทยาลัยออกประกาศลงโทษ สมาชิกคณะปฏิสังขรณ์ฯ นั่นคือ ตัดท่อน้ำเลี้ยงและหนทางสู่เกียรติยศ ด้วยการตัดเงินบำรุงครู และห้ามเจ้าคณะยกย่องให้พวกเขาเป็นเจ้าอาวาส และเจ้าคณะหมวด ห้ามขอเบี้ยอุปัชฌาย์และสมณศักดิ์ ที่สำคัญก็คือ การตัดตอนทางความคิดไปสู่พระรุ่นใหม่ โดยการห้ามตั้งเขาเหล่านั้นเป็นครู ด้วยเกรงว่าจะเผยแพร่ความคิดดังกล่าว [39]

ข้อที่สาม กรณีพระธรรมปิฎก วัดเชตุพนฯ เจ้าคณะมณฑลราชบุรีลาออก ด้วยความที่ในคณะปฏิสังขรณ์มีพระจากราชบุรีจำนวนมาก พระธรรมปิฎกจึงถูกสงสัยว่าเป็นพวกคณะปฏิสังขรณ์ จึงได้เกิดการงัดข้อขึ้นกับฝ่ายมหาเถรสมาคม ในกรณีเสนอโยกพระธรรมยุต เจ้าแขวงกำแพงแสน เป็นกิตติมศักดิ์ เนื่องจากอยู่ต่างถิ่น ไม่สะดวกต่อการปกครอง แต่ประธานมหาเถรสมาคมไม่อนุมัติ โดยกล่าวหากลับไปว่า พระธรรมปิฎกต้องการถอดถอนเพื่อให้พวกปฏิสังขรณ์บรรจุแทน ซึ่งพระธรรมปิฎก็ทำหนังสือตอบโต้ว่าไม่เป็นความจริง และในเมื่อไม่เป็นที่ไว้วางใจ จึงขอลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะมณฑล และยื่นเรื่องให้มหาเถรสมาคมพิสูจน์ข้อเท็จจริง แต่มหาเถรสมาคมก็ไม่ได้พิสูจน์ใดๆ และไม่มีการยับยั้งการลาออก ในจังหวะนั้นเอง ก็ได้โยกคนของตนเข้าเป็นเจ้าคณะมณฑลราชบุรีแทน[40]

 

บรรลุเป้า?

การต่อสู้อันดุเดือดดังกล่าว ได้ผลลัพธ์ที่งดงามไม่น้อย ความสำเร็จขั้นแรกของคณะปฏิสังขรณ์ฯ ก็คือ การผลักดันข้อเสนอจนเข้าไปเป็นญัตติในสภาได้ โดย หลวงวรนิติปรีชา ส.ส.จังหวัดสกลนคร แต่ยังไม่สำเร็จ เพราะส.ส.บางคนพิจารณาว่า ข้อเสนอไม่ได้ดำเนินตามระเบียบของมหาเถรสมาคม[41] การเข้าสภาครั้งที่ครั้งที่สอง โดย ทองม้วน อัตถากร ส.ส.มหาสารคาม ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติต่อสภาผู้แทนราษฎร ในปี 2478 ให้เชิญพระใหญ่น้อยให้มาประชุม เพื่อร่างระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ในลักษณะการรวมนิกายสงฆ์ แต่เรื่องก็เงียบหายไป ในครั้งที่สาม โดย ทองอยู่ พุฒิพัฒน์ ส.ส.ธนบุรี เมื่อ 28 ธันวาคม 2479 รัฐบาลนำร่างพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ส่งไปยังมหาเถรสมาคม เพื่อทำความตกลงร่วมกันระหว่างคณะสงฆ์ และปรากฏว่ามหาเถรสมาคมยินยอมพิจารณาร่างนี้ โอกาสดังกล่าวนับเป็นชัยชนะเบื้องต้นของ คณะปฏิสังขรณ์ฯ[42]

 

พานรัฐธรรมนูญ สัญลักษณ์ของระบอบใหม่ที่กลายเป็นพุทธศิลป์ในวัดทั่วประเทศ
ภาพบน ลายฉลุพานรัฐธรรมนูญ สร้างราวปี 2477 วัดส้มเกลี้ยงคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
ภาพล่าง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลอง สร้างราวปี 2484 หน้าวัดแห่งหนึ่งใน อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ

ภาพขวาแผงคอสองวิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุก จ.ลำปาง เขียนขึ้นใหม่ตามแบบเดิม น่าจะทำขึ้นในปี 2482

 

ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ผ่านเวทีอันชอบธรรม

ร่างพระราชบัญญัตินี้ ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงวางโครงสร้างของคณะสงฆ์เท่านั้น แต่เป็นการเสนอเพื่อแตกยอดความคิดดังกล่าวออกไป มหาเถรสมาคมได้มีการคัดเลือกคณะกรรมาธิการขึ้น แบ่งเป็นฝ่ายมหานิกาย 3 รูป และฝ่ายธรรมยุต 2 รูป ส่วนการตัดสินจะอยู่ในมือคณะกรรมการในมหาเถรสมาคม ซึ่งในการประชุมเดือนกันยายน 2480 คณะกรรมการได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ถึง 3 ร่าง ได้แก่ ร่างของคณะกรรมาธิการ, ร่างของกระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) และอีกร่างหนึ่งเป็นของธรรมยุติกนิกาย ซึ่งมีหลักการคล้ายกระทรวงธรรมการ[43] ข้อที่ต่างกันก็คือ มาตรา 5 ที่ร่างของคณะกรรมาธิการเน้นว่า ส่วนกลางให้ปกครองรวมกัน 2 นิกาย แต่ในส่วนภูมิภาคให้แยกกันปกครอง ขณะที่สองร่างหลัง เป็นข้อความกลางๆไม่ระบุว่ารวมหรือแยกแต่อย่างใด ที่น่าสังเกตก็คือ กรรมการมหาเถรสมาคม ฝ่ายมหานิกายต้องการร่างพ.ร.บ.ของคณะกรรมาธิการ เมื่อการลงมติในคราแรกในการโหวตเสียงเท่ากัน ร้อนถึงการต้องตัดสินด้วยการให้พระที่งดออกเสียงนั้นได้ออกเสียง ซึ่งพระที่เหลือนั้นเป็น มหานิกาย ทำให้กรรมการฝ่ายธรรมยุตไม่พอใจ ขณะที่ฝ่ายมหานิกายก็ไม่ยินยอม และในที่สุดฝ่ายธรรมยุตก็ประท้วงด้วยการลาออก แต่ความยุ่งยากนี้ไม่สิ้นสุดทำให้ที่ประชุมตัดสินใจส่งร่าง พ.ร.บ.ให้รัฐบาลเป็นผู้พิจารณา[44]

ร่างพ.ร.บ.นี้ถูกนำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในเดือนสิงหาคม 2481[45] และได้นำเข้าสู่การประชุมลับและลงมติว่าแก้ไขพระราชบัญญัติ โดยสรุปว่าให้รวมการปกครองและแยกศาสนพิธีระหว่างทั้งสองนิกาย ไม่ร่วมอุโบสถสังฆกรรม ด้วยคะแนน 61 เสียง[46]

อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.นี้ค้างเติ่งอยู่นานจนนายทองอยู่ เอี่ยมบุญอิ่ม ส.ส.จังหวัดนนทบุรี ทนไม่ไหวจึงยื่นกระทู้ถามรัฐบาลในปี 2483 เหตุผลของรัฐบาลก็คือ อยู่ในกระบวนการปรับแก้ไขกับคณะสงฆ์[47] ขณะที่สาเหตุเบื้องหลังนั้นมาจากความละเอียดอ่อนของปัญหาในคณะสงฆ์ที่รัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจ โดยเฉพาะเมื่อมีนักการเมืองตัวแทนจากทั้งมหานิกาย คือ หลวงวิจิตรวาทการ อดีตมหาเปรียญ 5 ประโยค สำนักวัดมหาธาตุ ขณะที่ฝ่ายธรรมยุต คือ ทองสืบ ศุภะมาร์ค อดีตมหาเปรียญ 9 ประโยค วัดมกุฏกษัตริยารามทั้งคู่จึงออกแรงปกป้องผลประโยชน์ให้กับฝ่ายของตนอย่างเต็มที่ [48]

จนกระทั่งร่าง พ.ร.บ.ได้เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในปี 2484 เมื่อเดือนกันยายน[49] และประกาศใช้ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ในวันที่ 14 ตุลาคม 2484 เป็นต้นมา นอกจากนั้นยังมีการแนบแถลงการณ์ เรื่อง พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ด้วย แถลงการณ์นี้ได้เน้นว่า ได้รับความเห็นชอบของคณะสงฆ์ และได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วและย้ำว่าเป็นการปกครองสงฆ์ที่อนุโลมตามวิธีของบ้านเมือง ซึ่งอ้างว่าเป็นเช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าใช้ นอกจากนั้นยังระบุว่า พ.ร.บ.นี้ ยังเปิดทางให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก เมื่อเสร็จแล้วหรือไม่เกิน 8 ปีนับจากประกาศใช้พ.ร.บ. ให้ทำการรวมนิกายสงฆ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน[50]

 

สายลมเปลี่ยน สังฆราชก็เปลี่ยนสาย

ก่อนที่จะมีการผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.คณะสงฆ์สำเร็จ ก็ปรากฏว่า รัฐบาลคณะราษฎร ได้เปลี่ยนแปลงประเพณีเดิมจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ให้พระฝ่ายธรรมยุตดำรงตำแหน่งพระสังฆราช เมื่อรัฐบาลสถาปนา สมเด็จพระวันรัต (แพ ติสสฺเถระ) วัดสุทัศน์เทพวราราม เจ้าคณะใหญ่หนใต้ มหานิกาย ขึ้นเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ในเดือนพฤศจิกายน 2481 โดยเหตุผลว่า อาวุโสและทรงคุณวุฒิที่สุด ที่น่าสังเกตคือ สมเด็จพระสังฆราชกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์สิ้นพระชนม์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2480 นั่นหมายถึง ช่วงที่บัลลังก์ว่างเกือบปี และช่วงนั้นเอง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้บัญชาการคณะสงฆ์แทน ปฏิบัติการทางการเมืองครั้งนี้จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงฐานอำนาจการบริหารคณะสงฆ์ให้กลับมาสู่มหานิกาย สอดรับกับอำนาจการปกครองประเทศที่เปลี่ยนศูนย์กลางไปแล้ว[51]

สมเด็จพระวันรัต (แพ ติสสฺเถระ) วัดสุทัศน์เทพวราราม เจ้าคณะใหญ่หนใต้ มหานิกาย ขึ้นเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ในเดือนพฤศจิกายน 2481 ดำรงตำแหน่งถึงปี 2487

 

ชัยชนะเบื้องต้นและการเอาคืนของมหานิกาย

หลังจากที่ฝ่ายมหานิกายได้โอกาสขึ้นมามีอำนาจบ้าง พบว่ามีการตีกลับในเชิงการเมืองในหลายกรณี ได้แก่ การรื้อฟื้นอธิกรณ์ (คดี) กรณีพระญาณนายกที่เคยถูกถอดสมณศักดิ์เนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นำเรื่องขึ้นฟ้องศาล สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ก็โปรดให้คืนสมณศักดิ์ตามเดิมในปี 2482 นอกจากนั้นก็ยังให้ถอดพระราชกวี เจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรีออกจากตำแหน่งเจ้าคณะมณฑล เนื่องจากไม่รักษาความเป็นกลางระหว่างสงฆ์สองนิกายถ้าเป็นเจ้าคณะต่อไปเกรงจะเกิดความวุ่นวายไม่รู้จบ [52]

นอกจากนั้นยังมีกรณีที่มีการทำเรื่องขอโอนวัดธรรมยุติมาอยู่กับมหานิกาย ในช่วงปี 2482 เหตุการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ พระเมธาธรรมรส เจ้าอาวาสวัดพิชัยญาติได้ทำเรื่องผิดร้ายแรงในสายตาของคณะธรรมยุต แต่สมเด็จพระสังฆราชพิจารณาว่า ไม่เหลือวิสัยที่จะแก้ไขได้จึงให้พระเมธาธรรมรสขอขมาต่อเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุตและเถรสมาคมคณะธรรมยุตในมหาเถรสมาคม แต่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เจ้าคณะธรรมยุต ไม่รับขอขมา

ในส่วนที่ผิดวินัยและอาณัติสงฆ์ จนกล่าวว่าหากจะโอนไปขึ้นนิกายอื่นๆ คณะธรรมยุติก็ไม่ขัดข้อง ดังนั้น จึงได้มีการโอนวัดพิชัยญาติการาม ไปขึ้นกับมหานิกาย ใต้การปกครองเจ้าคณะแขวงใต้ธนบุรี [53]

อีกกรณีหนึ่งคือ เรื่องนาคหลวง ความเข้าใจผิดเรื่องนาคหลวงที่เข้าใจกันไปว่า นาคหลวงจะต้องเป็นพระธรรมยุตเท่านั้น เริ่มในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส (ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชในปี 2443-2464) ที่แบ่งพระอุปัชฌาย์เป็นสองฝ่ายอย่างเด็ดขาด ประกอบกับช่วงนั้นเป็นช่วงที่ธรรมยุตเฟื่องฟูและเป็นที่นิยม ทำให้นาคหลวงแทบทั้งหมดจึงเป็นฝ่ายธรรมยุต นั่นจึงทำให้เข้าใจผิดกันไปว่า ผู้ที่มาบวชมาเป็นนาคหลวงจะเป็นพระธรรมยุตเท่านั้น ขณะที่ประเพณีก่อนหน้านั้นสมเด็จพระสังฆราชจะรับเป็นพระอุปัชฌาย์ของนาคหลวงทั้งสองนิกาย หากต้องการบวชในธรรมยุตก็ให้ไปบวชซ้ำที่วัดบวรนิเวศ ดังนั้นหลังจากที่แต่งตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ซึ่งเป็นพระมหานิกาย เรื่องการบวชนาคหลวงก็ให้ย้อนกลับไปเหมือนเดิมคือ สมเด็จพระสังฆราชเป็นพระอุปัชฌาย์นาคหลวงทั้งสองนิกาย [54] ทำสังฆกรรมร่วมกันได้อีกครั้ง นี่คือ ส่วนหนึ่งของการตีกลับมามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้งของฝ่ายมหานิกาย

 

พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ก็คือ รัฐธรรมนูญแห่งพุทธจักรไทยนั่นแล

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ได้สะท้อนฐานความคิดทางการเมืองของสังคมไทยในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี นั่นคือ การรื้อโครงสร้างความสัมพันธ์ภายในองค์กรสงฆ์ขึ้นใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่หัวอย่างพระสังฆราชลงมา การแบ่งโครงสร้างการบริหารการปกครองใหม่ที่มีการแบ่งแยกอำนาจ และคานอำนาจระหว่างกัน เพื่อรองรับการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาในวงการสงฆ์เองที่นับวันจะซับซ้อนขึ้น การออกแบบโครงสร้างใหม่นี้ก็เพื่อสร้างหลักการร่วมกันโดยมิต้องยึดอยู่กับปัญหาบุคคล ที่เป็นต้นตอความไม่ชอบมาพากลอันเนื่องมาจากอคติทั้งปวง สอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจตามหลักอธิปไตยที่ระบอบประชาธิปไตยได้สถาปนาขึ้น

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.นี้ อาจจำแนกได้เป็นสามประการ ได้แก่ [55]

ประการแรก ยุบเลิกมหาเถรสมาคม ที่ทำหน้าที่องค์กรปกครองสงฆ์หนึ่งเดียวที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่กับตัวเอง ในโครงสร้างใหม่นี้ได้แบ่งอำนาจการปกครองเป็น 3 ส่วนได้แก่ สังฆสภา ถืออำนาจนิติบัญญัติ สังฆมนตรีถืออำนาจบริหาร และคณะวินัยธร ถืออำนาจตุลาการ เพื่อถ่วงดุลอำนาจการบริหารคณะสงฆ์เช่นเดียวกับการปกครองฝ่ายอาณาจักร

ประการที่สอง หลังจากที่มหาเถรสมาคมหายไปจากโลก กฎหมายก็ยังจำกัดอำนาจสมเด็จพระสังฆราชด้านบริหารคณะสงฆ์ให้มีอำนาจแต่เพียงในนาม ดังนั้นเอาเข้าจริงแล้วตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชแทบจะไม่มีความหมายใดๆในการบริหาร แต่เป็นเพียงสัญลักษณ์หรือเป็นประมุขของฝ่ายสงฆ์ กล่าวได้ว่าทรงบัญชาการคณะสงฆ์โดยลำพังมิได้ ซึ่งในวิธีคิดแบบนี้ทำให้พระสังฆราชไม่ต้องรับผิดชอบการบริหาร เนื่องจากว่าอำนาจการบริหารอยู่ที่สังฆนายกและคณะสังฆมนตรีแล้ว จึงอยู่ในฐานะประมุขของประเทศ เช่นเดียวกับกษัตริย์ในฝ่ายของอาณาจักร

ประการที่สาม วางลู่ทางที่จะรวมนิกายสงฆ์ให้เป็นนิกายเดียวกัน ตามบทเฉพาะกาลในมาตรา 60 เพื่อที่จะทำสังคายนาพระธรรมวินัยในเวลา 8 ปี เพื่อรวมนิกายสงฆ์

เรามาทำรู้จักกันว่า องค์กรที่ถืออำนาจอธิปไตยของคณะสงฆ์ในสมัยนั้น มีหน้าตาเป็นอย่างไรกัน

 

อำนาจที่หนึ่ง สังฆสภา

สมาชิกสังฆสภา กำหนดไว้ว่ามีจำนวนไม่เกิน 45 รูป ประกอบด้วยสมาชิกได้แก่ พระเถระชั้นธรรมขึ้นไป, พระคณาจารย์เอก, พระเปรียญเอก (ตั้งแต่เปรียญ 7-9) คัดมาจากพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติถึง แต่หากมีจำนวนมากจะคัดตาม "ลำดับอาวุโส" [56] ประธานและรองประธานสภา สมเด็จพระสังฆราชก็จะเป็นคนแต่งตั้งจากสมาชิกสังฆสภา[57] อนึ่ง สมาชิกสังฆสภาไม่ได้เกิดจากการ "เลือกตั้ง" แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามกฎหมายได้เปิดช่องให้ตั้ง "คณะกรรมการวิสามัญ" ที่ไม่จำเป็นต้องสมาชิกสังฆสภา เปิดโอกาสให้พระสงฆ์ทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการประชุม หากมีความรู้ความสามารถ และคณะกรรมาธิการยังมีอำนาจนิมนต์ภิกษุ หรือเชิญผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการมาแสดงความคิดเห็นกิจการที่กระทำอยู่[58] สิ่งเหล่านี้เป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้คณะสงฆ์และผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมได้กว้างขวาง

อำนาจหน้าที่ของสังฆสภา มีหน้าที่ในการออกสังฆาณัติ (เทียบได้กับพระราชบัญญัติ) กติกาสงฆ์(พระราชกฤษฎีกา) กฎองค์การ (กฎกระทรวง) พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช (พระบรมราชโองการ) ข้อบังคับ (กฎสำนักนายกรัฐมนตรี) และระเบียบ (ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี) ทั้งนี้ต้องไม่ขัดกับพระธรรมวินัย[59] เพื่อไม่ให้การดำเนินการของคณะสงฆ์เป็นที่กังขาต่อพระธรรมวินัย หรือขัดกับพระไตรปิฏก จึงได้มีการระบุไว้เลยว่า หากมีข้อสงสัยในญัตติต่างๆ ให้ตีความโดยรักษาพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัดไม่จำเป็นต้องลงมติ หรือใช้เสียงข้างมาก[60]

การเสนอญัตติเข้าประชุมสภาที่มีอยู่สามทาง ได้แก่ จากคณะสังฆมนตรี จากกระทรวงศึกษาธิการ และจากสมาชิกสังฆสภา แต่ในส่วนสมาชิกสังฆสภา จะเสนอได้ก็ต้องให้สังฆนายกรับรองเสียก่อน[61] อำนาจของตำแหน่งนี้จึงทำให้ทั้งฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุติพยายามผลักดันพระสงฆ์ของตนขึ้นดำรงตำแหน่งสังฆนายก ซึ่งในที่สุดฝ่ายธรรมยุตก็คว้าความได้เปรียบนี้ไปเมื่อตำแหน่งอยู่ที่ สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) แห่งวัดบรมนิวาส สายธรรมยุต รัฐบาลประกาศแต่งตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2485[62]

กระนั้นความละเอียดอ่อนในระบบการปกครองใหม่นี้คงจะเป็นความกังวลใจของรัฐบาล จนถึงต้องกับห้ามโฆษณาข้อความที่เกี่ยวกับการประชุมสังฆสภา คณะกรรมาธิการสังฆสภา คณะสังฆมนตรี หรือคณะกรรมการที่คณะสังฆมนตรีตั้งขึ้นให้พิจารณาเป็นการลับ จะทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ[63]

การออกแบบโครงสร้างของสังฆสภา คงล้อมาจากสภาผู้แทนราษฎรที่ให้อำนาจของสภาเป็นใหญ่ นั่นคือ กรณีที่พระสังฆราช ไม่เห็นด้วยกับร่างสังฆาณัติ อันเป็นเสมือนกับ กฏหมายเทียบเท่าพระราชบัญญัติ จะคืนมายังสังฆสภาหรือไม่ก็ตาม สังฆสภาจะปรึกษากันและออกเสียงคะแนนลับ ถ้าสังฆสภายังมีมติตามเดิมให้ถวายสังฆราชอีกครั้ง หากยังมีปัญหา ก็ให้นำร่างส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณา ถ้าเห็นสมควร ให้นำเสนอประธานสังฆสภาแล้วให้ประธานสังฆสภาลงนาม ประกาศใช้สังฆาณัตินั้นได้เลย[64]

สังฆสภาชุดแรกที่ได้รับการประกาศในปี 2485 มีจำนวน 41 รูป มีการเปิดประชุมสังฆสภาสมัยสามัญครั้งแรกวันที่ 29 พฤษภาคม 2485 ณ ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุ ถือว่าเป็นงานรัฐพิธี สมเด็จพระสังฆราชเสด็จเป็นประธาน จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปร่วมงานจำนวนมากต่อมามีการประชุมคัดเลือกประธานและรองประธานสังฆสภา[65] ประธานสังฆสภารูปแรกคือ สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุ[66] สายมหานิกาย ซึ่งตามหลักแล้วแม้พระมหานิกายจะดำรงตำแหน่งสำคัญอยู่ที่พระสังฆราช และประธานสังฆสภา แต่ก็ถือว่าเสียรังวัดอย่างมากที่ปล่อยให้พระฝ่ายธรรมยุตครองตำแหน่งสังฆนายกที่จะมีบทบาทและอำนาจในการบริหารเป็นอย่างมาก

 

อำนาจที่สอง คณะสังฆมนตรี

ประกอบด้วยสังฆนายก 1 รูป และสังฆมนตรีอีกไม่เกิน 9 รูป ผู้แต่งตั้งก็คือ สมเด็จพระสังฆราช กำหนดไว้ว่า สังฆนายก และสังฆมนตรีอย่างน้อย 4 รูปต้องมาจากสังฆสภา นอกจากนั้นอาจเลือกภิกษุผู้มีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษ แม้มิได้เป็นสมาชิกสังฆสภาก็ได้ [67] สังฆมนตรีที่ทำหน้าที่คล้ายรัฐมนตรี มีวาระการดำรงตำแหน่งอยู่ที่ 4 ปี [68]

 คณะสังฆมนตรีนั้นจะมีหน้าที่บริหารคณะสงฆ์ซึ่งแบ่งออกเป็นส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค คล้ายคลึงกับฝ่ายราชอาณาจักร ส่วนกลางประกอบด้วย 4 องค์การ (คล้ายกระทรวง) ได้แก่ องค์การปกครอง (คล้ายกระทรวงมหาดไทย) องค์การศึกษา (คล้ายกระทรวงศึกษาธิการ) องค์การเผยแพร่ องค์การสาธารณูปการ[69] และกฎหมายเปิดช่องให้เพิ่มองค์การอื่นได้ตามความเหมาะสม คณะสังฆมนตรีมีอำนาจและหน้าที่เต็มในการบริหารและบังคับบัญชาผู้กระทำผิด เมื่อมีอำนาจก็ต้องมีการรับผิดชอบ สังฆนายกและสังฆมนตรีต้องรับผิดชอบการบริหารร่วมกันในกิจการทั่วไป[70]

ในด้านธุรการและการประสานงาน พ.ร.บ.กำหนดตำแหน่ง เลขาธิการสังฆสภา ที่เป็นคนจากกรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสังฆสภาและสำนักงานเลขาธิการคณะสังฆมนตรี เพื่อการนี้ให้มีสิทธิเสนอคำชี้แจงในคณะสังฆมนตรีด้วย [71] จึงนับเป็นตัวเชื่อมระหว่างการทำงานฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักรอีกส่วน[72]

 

อำนาจที่สาม คณะวินัยธร

เป็นคณะสงฆ์ผู้พิจารณาคดีหรือวินิจฉัยอธิกรณ์ หมวดนี้ ไม่ได้ระบุรูปแบบที่ชัดเจน เปิดช่องให้เป็นไปตามพระธรรมวินัยและสังฆาณัติที่จะบัญญัติอย่างรอบคอบต่อไป

ในพระราชบัญญัตินี้ เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลและสภาเห็นความสำคัญกับส่วน "สังฆสภา" เนื่องจากมีเนื้อหาและรายละเอียดมากที่สุด คือ กว่า หน้า ขณะที่รองลงมาคือ "คณะสังฆมนตรี" 4 หน้า นอกจากนั้นในหมวด "วัด" ก็นับเป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าเป็นหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดที่สัมพันธ์กับประชาชน ขณะที่หมวด "สมเด็จพระสังฆราช" "สาสนสมบัติ" (สะกดแบบเดิม) และ "คณะวินัยธร" มีรายละเอียดน้อยมาก

ภาพซ้าย สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ประธานสังฆสภารูปแรก จากฝ่ายมหานิกาย
ภาพขวา สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) สังฆนายกรูปแรก จากฝ่ายธรรมยุต

การสลายตัวของ "คณะปฏิสังขรณ์"

อาจกล่าวได้ว่า หลังจากที่ส่งไม้ถึงรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎรรับในหลักการแล้วว่าจะแก้ไขพ.ร.บ.ลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ก็ทำให้คณะปฏิสังขรณ์ฯ ค่อยๆ สลายตัวตามลำดับ โดยมีสาเหตุจาก การลาสิกขาของสมาชิก เช่น พระมหาแย้ม ประพัฒน์ทอง ลาสิกขาในปี 2479 พระมหาประหยัด (ประหยัด ไพทีกุล) ลาสิกขาในปี 2481 รวมถึงสาเหตุจากการโยกย้ายวัดและโยกย้ายตำแหน่ง ออกไปจากกรุงเทพฯ[73] นอกจากนั้นคณะปฏิสังขรณ์ฯยังถูกเพ่งเล็งจากเจ้านายชนชั้นสูงในฐานะภัยต่อความมั่นคง ดังที่พบหลักฐานว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เขียนจดหมายถึงสมเด็จฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (น่าจะอยู่ราวๆปี 2477-ผู้เขียน) มีข้อความที่เรียกคณะปฏิสังขรณ์ว่า "พระเก๊กเหม็ง" ทั้งยังมองการเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่าเป็นวิธีการแทรกซึมบ่อนทำลายของขบวนการคอมมิวนิสต์ที่จะ "ทำลายศาสนา" นั่นก็คงเนื่องด้วยว่า พระเหล่านี้มีความใกล้ชิดกับปรีดี พนมยงค์ และถวัติ ฤทธิเดชนั่นเอง[74] คณะปฏิสังขรณ์ฯ จึงแทบจะไม่มีเหตุผลที่จะดำรงอยู่อีกต่อไป จึงค่อยๆเสื่อมสลายไปในที่สุด 

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ยืนเท้าสะเอว) เขียนถึงสมเด็จฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (นั่งบนรถไฟ? เสื้อขาว) ได้เรียกคณะปฏิสังขรณ์ว่า "พระเก๊กเหม็ง" ภาพนี้แสดงถึงวัยสนธยาของทั้งสอง

 

การเปลี่ยนแปลงคณะสงฆ์ จาก พ.ร.บ.ฉบับประชาธิปไตย
ผลงานที่ถูกลบหายจากความทรงจำ

การดำเนินการตามพระราชบัญญัติที่มีโครงสร้างที่เป็นธรรมมากขึ้น และเปิดช่องทางให้พระสงฆ์ปฏิบัติงานตามความสามารถมากกว่าเดิมที่รวมศูนย์อยู่ที่มหาเถรสมาคม พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์ ได้แบ่งผลงานที่มาจากการบริหารการปกครองคณะสงฆ์ในพ.ร.บ.ตัวใหม่นี้ ให้เห็นเป็นผลงานอันน่าตื่นตาตื่นใจ 2 ช่วง ได้แก่

ระยะแรก ปี 2485-2490 เป็นระยะปรับตัวเตรียมงานปกครอง เป็นช่วงที่มีการออกสังฆาณัติ ออกระเบียบมากที่สุด เช่น สังฆาณัติระเบียบบริหารคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค พ.ศ.2485, สังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ พ.ศ.2486, สังฆาณัติระเบียบพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2487 เป็นต้น นอกจากนั้นถือว่ามีการตื่นตัวทางการศึกษาขึ้นมาก โดยเปิดการศึกษาวิชาการฝ่ายสามัญเป็นครั้งแรกอย่างจริงจังในระดับมหาวิทยาลัยคือ มหามกุฏราชวิทยาลัย ปี 2489 และมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ปี 2490 นับเป็นการเตรียมผลิตบุคลากรเพื่อเข้าไปดำเนินการปกครองสงฆ์ต่อไป[75]

ระยะที่สอง ปี 2490-2503 เป็นระยะทำงานเชิงรุก นับเป็นยุคที่คณะสงฆ์ไทยเฟื่องฟูขึ้นมาก เพราะมีความพร้อมทางด้านบุคลากรที่เข้าใจ พ.ร.บ.มากขึ้น โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง (คล้าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) ของ พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) วัดมหาธาตุ ได้มีการทำงานเชิงรุก โดยส่งพระภิกษุสงฆ์ที่มีความรู้ไปยังภูมิภาคต่างๆ และนำพระสังฆาธิการและพระสงฆ์มาอบรมที่วัดมหาธาตุ ทั้งยังส่งภิกษุไปดูงานและเผยแผ่ศาสนาในต่างประเทศ[76]

หากเปรียบกับรัฐบาลทางโลกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ต่อสังคมไทยแล้ว ผลงานของรัฐบาลคณะสงฆ์ที่คู่ขนานกันไปนั้นสัมฤทธิผลอย่างน่าสนใจ สามารถจำแนกได้ดังนี้

1) การกำหนดเขตการปกครองคณะสงฆ์ มีการแบ่งหน่วยปกครองลดหลั่นไปในระดับภาค จังหวัด อำเภอ

ตำบลและวัด ในระดับภาค เดิมแบ่งตามเขตภาคปกครองของบ้านเมือง ต่อมาปรับให้เหมาะสมกับฝ่ายสงฆ์แบ่งเป็น 5 ภาค เจ้าคณะภาคขึ้นตรงต่อสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง[77] ต่อมาในระดับจังหวัด แม้จะมีเจ้าคณะจังหวัดแต่ก็ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเผด็จการ แต่เป็นเพียงหัวหน้าคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดเท่านั้น ซึ่งคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดก็ประกอบด้วยฝ่ายต่างๆทั้ง 4 ดังที่กล่าวไปแล้ว เช่นเดียวกับระดับอำเภอก็มีเจ้าคณะอำเภอ และคณะกรรมการสงฆ์อำเภอที่ดูแลอยู่ด้วย[78] รองลงมาคือระดับตำบล และเจ้าอาวาสวัด ที่ไม่ได้มีกรรมการใด

2) การแต่งตั้งเลื่อนชั้นผู้ปกครองคณะสงฆ์ พระสงฆ์ผู้ทำการปกครองจะเรียกว่า "พระคณาธิการ" แบ่งเป็น 2

ส่วนคือ ส่วนกลาง อันประกอบด้วย สังฆมนตรีและเลขานุการสังฆมนตรี และส่วนภูมิภาค ได้แก่ เจ้าคณะตรวจการภาคลงไปจนถึงผู้ช่วยเจ้าอาวาส[79] ซึ่งการแต่งตั้งและเลื่อนชั้นนั้นจะต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ พบว่าสิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงผลงานของคณะสงฆ์ในแต่ละปีเป็นอย่างดี โอกาสที่จะใช้วิธีที่ไม่ถูกต้องในการนำมาซึ่งยศและตำแหน่งระดับสูง โดยปราศจากการตรวจสอบจึงเป็นไปได้ยาก[80]

3) การแต่งตั้งพระอุปัชฌาย์ พระราชบัญญัตินี้บ่งบอกคุณสมบัติที่ควรจะเป็นและแก้ไขความบกพร่องจาก

พ.ร.บ.เดิม นั่นคือยกเว้นพระอุปัชฌาย์ที่เคยเป็นมาก่อน สังฆาณัตินี้ให้เป็นอยู่ต่อไป[81] และยุคนี้แทบจะไม่มีปัญหาอุปัชฌาย์เถื่อนแล้ว เนื่องจากความรู้ความเข้าใจนั้นมีมากขึ้นแล้ว[82]

4) การก่อตั้งและขยายสำนักวิปัสสนา โดยหลักการนับได้ว่าภารกิจของพระสงฆ์มีอยู่ ประการ ก็คือ คันถ

ธุระ การศึกษาเล่าเรียน และ วิปัสสนาธุระ คือ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน สมเด็จมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) สังฆนายกองค์แรก ได้ทำการรวบรวมวัดป่าในเขตอีสานขึ้นต่อคณะสงฆ์ธรรมยุตเกือบทั้งหมด นอกจากนั้นยังพบว่ามีฝ่ายมหานิกายไม่น้อยที่เลื่อมใสข้อวัตรของธรรมยุติแล้วหันไป อุปสมบทแปรญัตติใหม่ แม้จะมีพรรษากว่า 10พรรษาแล้วก็ตาม ซึ่งภายในเวลาไม่ถึงสิบปี พบว่าธรรมยุตได้ตั้งมั่นในเขตอีสานตอนบนและล่างแทบทั้งหมด ทำให้ฝ่ายมหานิกายตื่นตัวว่าได้สูญเสียสมาชิกจำนวนมากจึงทำให้ฝ่ายมหานิกายให้ความสนใจกับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมากขึ้น[83] พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ได้ส่งเปรียญวัดมหาธาตุไปศึกษาพุทธศาสนาทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระที่พม่าในปี 2495 และยังให้พระเถระพม่าเข้ามาสอน โดยเปิดสอน ณ อุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ตั้งแต่ปี 2496 เป็นต้นมา ปรากฏว่าเป็นที่สนใจกันมาก[84] การแข่งขันดังกล่าวจึงส่งผลให้การศึกษาของพุทธศาสนาขยายตัวคึกคักมากขึ้น

5) การควบคุมความประพฤติพระภิกษุสามเณร คณะสังฆมนตรีได้ประชุมอกประกาศชี้แจงหรือห้ามในเรื่อง

ต่างๆ เช่น ประกาศคณะสงฆ์ พ.ศ.2489 ห้ามจัดให้มีการพนันในบริเวณวัด, พ.ศ.2489 ห้ามภิกษุสามเณรแสดงตนเป็นอาจารย์บอกเลข สลากกินแบ่ง หรือสลากกินรวบ, พ.ศ.2490 ห้ามมีระบำในวัด, พ.ศ.2495 ห้ามภิกษุสามเณรเรียกเงินค่าเวทมนต์และห้ามทดลองของขลัง, พ.ศ.2496 ห้ามบรรพชิตรับบุตรบุญธรรม, พ.ศ.2499 ห้ามเปิดการแข่งขันชกมวยในวัด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมที่สลับซ้อนมากขึ้น จนกระทั่งในปี 2500 ได้ตั้งกองวินยาธิการเพื่อกวดขันความประพฤติโดยเฉพาะ ซึ่งนับว่าวางแผนงานในการควบคุมความประพฤติอย่างเป็นระบบและทันท่วงที[85]

ในส่วนของคณะวินัยธรพบว่า สังฆาณัติให้ใช้ระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ พ.ศ.2486 นับเป็นกระบวนการพิจารณาอธิกรณ์ที่เป็นธรรมที่สุดในด้านนิตินัย เนื่องจากมีการมอบหมายงานอย่างอิสระโดยไม่ก้าวก่ายงานปกครอง ขณะที่การสอบสวนก็สร้างระบบที่ตัดผู้เกี่ยวข้องกับคดีออกไป [86]

พระราชบัญญัตินี้นับได้ว่าสร้างเงื่อนไขให้ ภิกษุฝ่ายมหานิกายได้มีอำนาจทางการเมืองในการปกครองสงฆ์

มากขึ้นอย่างไม่เคยทำได้ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คณะสงฆ์ยังสามารถจัดการบริหารกันเองได้ โดยมีการแทรกแซงจากฝ่ายอาณาจักรไม่มากนัก ซึ่งต่างจากการพิจารณาแบบ พ.ร.บ.เก่า เนื่องจากได้มอบอำนาจพิจารณาคดีไว้ที่ต้นสังกัดของผู้กระทำผิด จึงนับว่าเป็นระบบที่มีปัญหาเรื่องอคติและผลประโยชน์ระหว่างกัน[87]

 

ส่งท้าย เพื่อส่งต่อ

นี่คือ ผลงานของคณะปฏิสังขรณ์ พระสงฆ์ร่วมสมัย คณะราษฎรและยุคสมัยที่อำนาจอธิปไตยอยู่ในมือประชาชน ที่เป็นบทขับขานแห่งชัยชนะของพลังประชาธิปไตย เป็นชัยชนะที่ได้มาจากการต่อสู้กับสังคมเก่าด้วยหลักการและเหตุผล รวมถึงหมากกลทางการเมือง ก่อนที่เราจะอิ่มเอมใจไปกับชัยชนะ ต้องไม่ลืมว่าการสูญเสียตำแหน่งแห่งที่ ลาภ ยศ สรรเสริญของพระสายธรรมยุต ได้สั่งสมความขุ่นเคืองไม่พอใจอยู่ลึกๆ ไม่นับถึงความขัดแย้งร้าวฉานภายในของพระสงฆ์มหานิกายเอง และพ.ร.บ.นี้ก็ไม่ได้ไปไกลมากถึงกับการท้าทายศักดินาและการแบ่งแยกลำดับชั้นสูงต่ำในคณะสงฆ์ ดังที่เราเห็นว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญยังเป็นพระระดับ Elite ของสังคมไทย พระรุ่นใหม่ในนามคณะปฏิสังขรณ์ฯ ไม่ได้ขึ้นมามีอำนาจดุจดังที่คณะราษฎรทำได้สำเร็จ และเหตุการณ์ยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีกเมื่อผนวกกับสถานการณ์ทางการเมืองที่พลิกผันเมื่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลับมายึดกุมอำนาจนำหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การกำชัยชนะเพื่อเป็นแชมป์ว่ายากแล้ว แต่การรักษาแชมป์ให้คงอยู่อย่างต่อเนื่องนั้นยากยิ่งกว่า

และนี่คือ สถานการณ์ของรัฐบาลคณะราษฎรและผู้สนับสนุนพ.ร.บ. คณะสงฆ์ 2484 จะต้องเผชิญอย่างจริงจังในเวลาต่อมา

 

(โปรดติดตาม ตอนที่ 2 มรณกรรมใต้ตีนเผด็จการ เร็วๆนี้)



[1] "คำประกาศสำนักพิมพ์นิติราษฎร์" ใน "สำนักพิมพ์นิติราษฎร์ อีกหนึ่งภารกิจนิติศาสตร์เพื่อราษฎร" .ประชาไทออนไลน์. http://www.prachatai.com/journal/2011/10/37369 (12 ตุลาคม 2554)
[2] "ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์" ใน ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 19 หน้า 295 วันที่ 20 กรกฎาคม ร.ศ.121, น.295-296
[3] "ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์" ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 19 หน้า 295 วันที่ 20 กรกฎาคม ร.ศ.121, น.295-296อย่างไรก็ตามกฎหมายนี้ไม่ได้ประกาศบังคับใช้ในประเทศ การเข้าไปควบคุมคณะสงฆ์ด้วยตัวกฎหมายได้ทยอยไปในปีต่างๆเช่น ปี 2445 ในมณฑลกรุงเทพฯ, มณฑลกรุงเก่า, มณฑลพิศณุโลก, มณฑลนครศรีธรรมราช, มณฑลนครราชสีมา, มณฑลราชบุรี, มณฑลปราจิณบุรี, มณฑลนครสวรรค์, มณฑลนครไชยศรี, มณฑลชุมพร, มณฑลภูเก็จ, มณฑลจันทบุรี, มณฑลอิสาณ และมณฑลบูรพา ขณะที่มณฑลอุดรในปี 2451 สุดท้ายที่มณฑลมหาราษฎร์ มณฑลพายัพและมณฑลปัตตานีในปี 2467
[4] ดูในการเสวนา การเสวนาเรื่อง "เจาะลึก …..พ.ร.บ.สงฆ์" 11 เมษายน 2545 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์, ไพศาล พืชมงคล, วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แะดนัย เอกมหาสวัสดิ์http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/004957.htm (17 เมษายน 2545)
[5] คนึงนิตย์ จันทบุตร. การเคลื่อนไหวของยุวสงฆ์ไทยรุ่นแรก พ.ศ.2477-2484 (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2528, น.16
[6] Kenneth P. Landon. Siam in Transition : A Brief survey of cultural trends the years since the Revolution of 1932 (New York : Green Wood Press), 1968, p.216-217 และ Virginia Thompson. Thailand: The New Siam (New York : Paragon Book Reprint Corporation), 1967, p.623-672 อ้างใน พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. การปกครองคณะสงฆ์ไทยตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484 วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539, น.78
[7] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.78
[8] ดูการต่อสู้ทางการเมืองที่ซับซ้อนทั้งใต้ดินและบนดินของฝ่ายเจ้า ใน ณัฐพล ใจจริง ' "คว่ำปฏิวัติ-โค่นคณะราษฎร" : การก่อตัวของ "ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ' ใน ฟ้าเดียวกัน 6 : 1 (มกราคม-มีนาคม 2551)
[9] คนึงนิตย์ จันทบุตร. การเคลื่อนไหวของยุวสงฆ์ไทยรุ่นแรก พ.ศ.2477-2484 (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2528, น.66
[10] แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม 20 (2475), น.715 อ้างใน คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.67-68
[11] แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม 20 (2475), น.716 อ้างใน คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.69
[12] ดุษฎี พนมยงค์. "ร้านกาแฟ Cafe de la Paix ในกรุงปารีส กับนายปรีดี พนมยงค์" ใน ข่าวสดออนไลน์ .http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROamIyd3dNVEUzTURnMU1nPT0= (17 สิงหาคม 2552) บทความนี้ชี้ให้เห็นว่า ร้านกาแฟ Cafe de la Paix ที่คนมักอ้างว่าเป็นแหล่งพบปะพูดคุยเพื่อการทำปฏิวัตินั้นไม่เป็นจริง เนื่องจากว่าเป็นร้านกาแฟที่หรูหราและมีราคา รวมถึงการยืนยันจากบันทึกความทรงจำของ พูนสุข พนมยงค์
[13] ไทยใหม่, ปีที่ 5 ฉบับที่ 69 (22 กุมภาพันธ์ 2477) อ้างใน คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.73
[14] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.75
[15] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.106-107
[16] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.108
[17] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.70
[18] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.81
[19] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.98
[20] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.100
[21] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.63-65
[22] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.84-85
[23] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.86
[24] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.87
[25] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.87
[26] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.88-89
[27] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.90
[28] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.111
[29] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.114-115
[30] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.117
[31] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.117
[32] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.119-120
[33] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.120
[34] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.122
[35] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.120
[36] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.123
[37] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.129
[38] แสวง อุดมศรี. การปกครองคณะสงฆ์ไทย (กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย), 2533, น.150-151
[39] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.129
[40] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.129-131
[41] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.141
[42] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.142
[43] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.142-143
[44] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.144-146
[45] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.147
[46] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.150 และ 153
[47] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.105-106
[48] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.107-108
[49] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.108-109
[50] "แถลงการณ์ เรื่อง พระราชบัญญัติคณะสงฆ์" ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58, วันที่ 14 ตุลาคม 2484, น.1415
[51] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.159-161
[52] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.205
[53] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.205
[54] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.212-213
[55] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.113
[56] มาตรา 11 ใน "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484" ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58, วันที่ 14 ตุลาคม 2484, น.1394
[57] มาตรา 12 ใน "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484" ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58, วันที่ 14 ตุลาคม 2484, น.1394
[58] มาตรา 25 ใน "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484" ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58, วันที่ 14 ตุลาคม 2484, น.1399
[59] มาตรา 22 ใน "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484" ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58, วันที่ 14 ตุลาคม 2484, น.1398 การเทียบเคียงลำดับชั้นทางกฎหมาย ดูใน โชติ ทองประยูร. กฎหมายสงฆ์ฉบับเก่า ภาค3 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484, น.3.51 อ้างใน เชิงอรรถ พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.122
[60] มาตรา 17 ใน "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484" ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58, วันที่ 14 ตุลาคม 2484, น.1396
[61] มาตรา 16 ใน "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484" ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58, วันที่ 14 ตุลาคม 2484, น.1396
[62] แสวง อุดมศรี. การปกครองคณะสงฆ์ไทย (กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย), 2533, น.190
[63] มาตรา 27 ใน "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484" ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58, วันที่ 14 ตุลาคม 2484, น.1400
[64] มาตรา 24 ใน "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484" ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58, วันที่ 14 ตุลาคม 2484, น.1399
[65] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.127-128
[66] แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.176-186
[67] มาตรา 29 ใน "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484" ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58, วันที่ 14 ตุลาคม 2484, น.1401
[68] มาตรา 31 ใน "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484" ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58, วันที่ 14 ตุลาคม 2484, น.1401
[69] มาตรา 33 ใน "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484" ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58, วันที่ 14 ตุลาคม 2484, น.1402-1403
[70] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.130
[71] มาตรา 59 ใน "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484" ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58, วันที่ 14 ตุลาคม 2484, น.1409
[72] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.124-125
[73] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.217-218
[74] คนึงนิตย์ จันทบุตร. เรื่องเดียวกัน, น.219-220
[75] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.137
[76] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.138
[77] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.139-140
[78] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.141-142
[79] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.144
[80] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, 2539, น.146
[81] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, 2539, น.148
[82] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, 2539, น.149
[83] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.154-155
[84] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.156
[85] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.158-159
[86] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.184
[87] พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.184-185

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น