วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

"ปฏิรูปประเทศไทย...ผักชี !!??"

 

เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา ชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมการสัมมนาวิชาการประจำปีครั้งที่ 2 หัวข้อ “ปฏิรูปประเทศไทย...ผักชี !!??" โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อระดมความคิดเห็นนักวิชาการทั้งในหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมือง และนักวิชาการภายนอกหลักสูตรที่มีต่อประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำภายในสังคมอันนำไปสู่การนำเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยของรัฐบาล

งานนี้ได้รับเกียรติจากนักปฏิรูปที่คิดทั้งระบบสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา อย่างค่อยเป็นไป ศ.นพ.ประเวศ  วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.) ปาฐกถานำ ถึงที่มาที่ไปของการปฏิรูปประเทศไทย การเปิดพื้นที่ทางสังคม เปิดพื้นที่ปัญญา เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ปฏิรูป

ก่อนที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ก้าวขึ้นเวทีอภิปรายนอกห้องเรียนร่วมกัน ในหัวข้อ “ปฎิรูปประเทศไทย ผักชี??!! และเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาในสังคม อันนำไปสู่การคิดหาทางออกร่วมกันแล้ว

เราลองมาฟังแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ต่อการปฏิรูปประเทศไทย


เสนอยกเลิกระบบผู้ว่าราชการจังหวัด

ศ.ดร.ผาสุก  พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เราควรน่าวิจารณ์รัฐบาลมากกว่าคณะปฏิรูป เพราะรัฐบาลลอยตัวด้วยการมีกรรมการปฏิรูป 3-4 ชุด ทำให้ทุกคนมัวแต่วิจารณ์คณะปฏิรูป ลืมวิจารณ์รัฐบาล ในฐานะตนเองเป็นนักวิชาการ อยากให้กำลังใจว่า เมื่อคณะปฏิรูปตั้งขึ้นมาแล้ว อยากให้ทุกคนช่วยกันมองไปในทางบวก ซึ่งก็อยากจะเสนอว่า ถึงเวลาแล้ว ที่ปฏิรูปประเทศไทยครั้งนี้ ต้องยกเลิก ระบบผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ที่เป็นระบบการปกครองส่วนภูมิภาคให้หมดไป

เวลานี้ ไม่ได้เหมือนในอดีต ที่ต้องมีการส่งคนในหัวเมืองหลัก เข้าไปให้ดูแลคนในท้องถิ่น โดยอำนาจการควบคุมดูแลก็มีจากส่วนกลาง เพื่อไม่ต้องให้หัวเมืองท้องถิ่นขัดขืนอำนาจตามแบบเจ้าอาณานิคม ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1890 ประเทศไทยได้เอาระบบนี้มาใช้หลังจากได้มีการปฏิรูประบบราชการแผ่นดิน จนล่วงเลยมาสู่ปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่ได้คำนึงถึงรูปแบบที่เปลี่ยนไป

ณะนี้รูปแบบการปกครองจัดให้มีการกระจายอำนาจลงไปสู่ท้องถิ่น แต่ปัญหาก็ยังมีจากแนวความคิดรัฐบาลส่วนกลางที่ยังเหมือนเดิม เพียงเพราะอยากจำกัดกิจกรรม พฤติกรรมท้องถิ่น ดังนั้น การยกเลิก ระบบผู้ว่าราชการจึงนับว่าสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมีการกระจายการปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว

ความจริงผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเพียงนโยบาย ที่ส่วนกลางต้องการ ส่งคนไปดูแลท้องถิ่น ตามงานของของกระทรวงๆ ซึ่งอาจจะชัดเจนว่า มีส่วนในการรวบรวมคนและดูแลประชาชนเวลาเกิดปัญหา แต่หากจะศึกษากันให้ลึก ในเวลาสถานการณ์ปกติ งานที่ส่งไปจากทั้ง 20 กระทรวง ก็ดำเนินการเองอยู่แล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่ได้มีหน้าที่อะไรเลยด้วยซ้ำ ซึ่งไม่มีความจำเป็น เสียงบประมาณไปอย่างไร้ประโยชน์ อีกทั้งการแต่งตั้งผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด ที่ไม่ใช่คนในพื้นที่  ทำให้คนเหล่านี้ไม่ได้มองเห็นปัญหาในชุมชนอย่างทะลุปรุโปร่ง

หากย้อนกลับไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะพบว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมีอายุเฉลี่ยในการทำหน้าที่บริหารจังหวัดระยะเวลาเพียง 1-2 ปี เพราะจากที่มีระบบพรรค ระบบมุ้ง การปรับเปลี่ยนรัฐมนตรี ก็เกิดการโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด ตามไปด้วย ซึ่งเหตุผลดังกล่าว ทำให้ไม่มีโอกาสสะสมความรู้ในพื้นที่ ขาดความต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเพียงตัวแทนของรัฐบาลกลาง ของพรรคการเมือง โดยกำกับ ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อผู้ว่าฯเข้ามาในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งโดยปราศจากความรักในท้องถิ่น ก็อาจจะทำให้เกิดการขัดแย้ง ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นในการพัฒนาต่างๆ

สำหรับการกระจายอำนาจท้องถิ่นของ 20 กระทรวง ที่ควรทำ คือ ควรกระจายให้ อปท.ทำ โดยให้นายก อบจ. กำกับ จะเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะมาจากพื้นที่โดยตรง ไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดปัญหา เพราะอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ก็ไม่ได้มีผู้ว่าฯ หรือที่ประเทศเกาหลีใต้ ก็ใช้รัฐบาลท้องถิ่นดูแล การจัดการรายได้ขั้นต่ำ ซึ่งก็เกิดประโยชน์ตามความต้องการอย่างมาก ไม่ได้บอกว่า ประเทศไทยต้องทำตาม เพราะต้องดูความเหมาะสมเป็นสำคัญ แต่ก็อยากบอกว่าจะเป็นการประสานงานระหว่าง รัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น ที่เป็นบทเรียนที่น่าศึกษามากในการกระจายการทำงานให้ชาวบ้านสามารถดูแลผลกระทบ โดยไม่ต้องรอการพึ่งพาจากส่วนกลางแต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่น ก็ต้องปรับบุคลากรให้ถ่ายโอนไปที่ อปท. ด้วย อาจจะเรียกว่า ต้องปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินเสียใหม่ ซึ่งตรงนี้ คาดว่าคอรัปชั่นจะลดลงด้วย นับเป็นนัยยะทางการเมืองของการกระจายอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด”

 


ห้ามหน่วยงานผูกขาดจัดการปัญหา

ศ.ดร.อานันท์  กาญจนพันธ์ อาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

“หากจะมองการปฏิรูปประเทศไทย โดยคิดการปฏิรูปอย่างนักเศรษฐศาสตร์การเมือง คิดมองให้ชัดเจน 3 อย่างว่า ต้องให้ความสำคัญเรื่องพลวัฒน์ คิดแบบสถิตและติดกรอบไม่ได้ ต้องไม่ติดกับปรากฏการณ์ ที่เรียกว่า โครงสร้าง ต้องมองลึกลงไป และที่สำคัญ ต้องร่วมคิดแบบมีเงื่อนไข ให้ความสำคัญทุกอย่างแท้จริงว่าต้องมีคนทำให้เกิด จึงจะสำเร็จ

หากจะดูปัญหาที่จะปฏิรูป มี 4 เรื่องใหญ่ คือ เริ่มแรก ต้องเข้าใจปัญหาของสังคมไทย ว่าไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวในโลกใบนี้ เป็นโลกาภิวัฒน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเข้าสู่การเป็นอาเซียน ประเทศไทยก็ต้องเลิกชาตินิยมอย่างไร้สติที่ว่า ชาติไทยเป็นหนึ่งเดียวเสียที สังคมวันนี้ เปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้ คนหนึ่งคนเป็นพันธุ์ทาง ไม่มีใครเป็นอาชีพอย่างเดียวอีกแล้ว ชาวนานอกจากเป็นเกษตรกร ก็ยังต้องหาเลี้ยงชีพด้วยวิธีอื่น นักธุรกิจ ก็ต้องทำหลายอย่างเพื่อความอยู่รอด  กลายเป็นสังคมแบบพหุสังคม ซึ่งหากจะพูดว่า เพียงต้องการ สมานฉันท์ ปรองดอง อย่างเดียว การแก้ปัญหาจะไม่สำเร็จ เพราะจะมีสิ่งที่อยู่ระหว่างกลางที่หลากหลายซับซ้อน

ดังนั้น เพียงวิธีการคิดแก้ปัญหาเชิงเดี่ยวจะไปไม่รอด โดยเฉพาะสังคมที่มีมนุษย์ล่องหน ที่เป็นคนงานนอกระบบเต็มไปหมด หากยังไม่เข้าใจ ยังดึงดันแก้ปัญหาโดยไม่มองความเปลี่ยนแปลง  ก็ถือว่าแก้ไม่ตรงจุดคัน

ในสังคมชนบท ก็เปลี่ยนจากที่เคยวางบนพื้นฐานที่ดิน เป็นเจ้าของที่ดิน ก็กลายมาเป็นระบบพันธะสัญญา เป็นอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งหากจะแก้ปัญหาโดยการ ปฏิรูปที่ดิน ก็ไม่ได้ จะไปไม่รอด การที่มีเพียง ฟรีแต่ไม่แฟร์ แก่คนในสังคม และการพึ่งของเก่า พึ่งมรดกเดิม อาทิ บ้าน วัด โรงเรียน เพื่อแก้ปัญหาจะไม่ได้ ดังนั้นต้องสร้าง กลไกเชิงสถาบัน ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกลไกของการเก็บภาษี ต้องใส่กลไกเชิงโครงสร้าง เพื่อเกลี่ยความมั่งคั่ง  เลิกใช้กลไกคิดเชิงเดี่ยว เน้นหลักคิดเชิงซ้อน ห้ามหน่วยงานเดียว ดูแล แต่ต้องให้หน่วยทางสังคมมาร่วมจัดการเพื่อความถ่วงดุล

เช่น ป่าชุมชน ยกป่าให้ชุมชน ด้านการใช้ประโยชน์ แต่ประโยชน์ป่า อยู่ที่กรมป่าไม้ เป็นสิทธิคนละชนิด แต่สำคัญ คือ กฎหมายต้องสอดคล้องกับความจริง

ส่วนเรื่องสุดท้าย อยากให้เปลี่ยนความขัดแย้งเสียใหม่ จากที่คิดว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งเลวร้าย แต่ให้มาเป็นการมองในเชิงสร้างสรรค์ ให้คิดว่า การที่ถกเถียงกัน จะนำไปสู่สิ่งที่ดี เพราะหากสังคมตกอยู่การครอบงำว่า ขัดแย้งเป็นลบ ต้องยิ่งขัดแย้งเป็นเรื่องผูกขาด ต้องเปิดพื้นที่ให้มาก เป็นพื้นที่สาธารณะ อาจไม่เฉพาะจัดเวทีแต่ต้องทำให้สามารถเป็นพื้นที่ต่อรองแก่คนทุกฝ่าย สังคมไทยต้องเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียง ขัดแย้งกัน ให้คนถกเถียงกันจนตกผลึกแล้วเกิดพลังขับเคลื่อนทางสังคมได้

 


สังคมไทยขาดแคลน-ตีบตัน และความเสื่อม

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์

“เมื่อพูดเรื่องการปฏิรูปมักจะมีแต่คำว่าการกระจาย กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กระจายการพัฒนาสู่คนด้อยโอกาส แต่เราไม่เคยพูดถึงเรื่องการขาดแคลน ความตีบตัน หรือความเสื่อมในสังคมเลย ซึ่งผมคิดว่า ขณะนี้สังคมไทยมีความขาดแคลน ความตีบตัน หรือความเสื่อมอยู่อย่างน้อย 4 เรื่อง คือ 1.ความเสื่อมในทางเศรษฐกิจ 2.ความเสื่อมในทางการเมือง 3.ความเสื่อมในทางสังคม และ 4.ความเสื่อมในเรื่องของประเพณีและวัฒนธรรม

สำหรับความเสื่อมทางสังคมนี้ รูปธรรมที่ชัดเจนตอนนี้คือ น้องแอนนี่กับน้องฟิล์ม ซึ่งไม่ต้องขยายความมาก ส่วนความเสื่อมทางเศรษฐกิจนั้นเศรษฐกิจไทยควรจะต้องโตกว่าปัจจุบันอย่างน้อย 1 เท่าตัว ไม่ใช่โตแบบนี้ โตแบบต่ำเตี้ยเลี่ยดิน เกิดปัญหา คือ รวยกระจุก จนกระจาย คนจนก็ทำให้ชีวิตให้กลายเป็นซามูไร โรนิน จะเป็นชาวไร่ชาวนาก็ไม่ได้ ตัดอ้อยก็ไม่พอกิน คนชนบทไร้สังกัด ต้องนำชีวิตเข้าขับแท็กซี่ในเมืองหลวง เพื่อหารายได้ทั้งจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้เพียงพอเลี้ยงชีวิต คนชนบทไม่สามารถฝากผีฝากไข้ใช้ชีวิตในภาคเกษตรได้ ขณะเดียวกันเข้าเมืองมาได้ค่าจ้างขั้นต่ำ 206 บาทก็จะไม่พอเลี้ยงตนเอง ไหนจะเลี้ยงพ่อแม่อีก

จนทำให้คนไทยจำนวนมากกลายเป็นมนุษย์โพล้เพล้ ทำมาหากินแบบกลางวันก็ไม่ใช่กลางคืนก็ไม่เชิง ต้องหากินทั้งในชนบทและในเมือง แล้วลองคิดดูว่าจะไปปลุกสร้างจิตสำนึก จิตวิญญาณให้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะขณะนี้ต้องดิ้นรนตามความต้องการปัจจัย 4 เฉพาะหน้าและสิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นพร้อมกับสภาวะโลกาภิวัฒน์ พร้อมทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ซึ่งบ่มเพาะเกิดความขัดแย้งนำไปสู่การเผชิญหน้า

ฉะนั้น เวลาเราพูดถึงการสมานฉันท์ ตราบใดที่เราไม่สามารถทำให้เค้กเศรษฐกิจเกลี่ยได้ และมีกลไกในการจัดการเค้กก้อนนี้ให้ทั่วถึงได้ เราก็อย่าพูดเลยเรื่องความสมานฉันท์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ปลายเหตุมาก ขณะนี้เราเพียงกำลังพูดเรื่องนโยบายสาธารณะ เกทับรับแหลก แบบที่เรียกว่า ประชานิยม หรือบ้างเรียกรัฐสวัสดิการ ซึ่งเราจะเอาที่ไหนมาเป็นรัฐสวัสดิการเมื่อเค้กเศรษฐกิจก้อนนี้โตแค่นี้

นี่คือตัวอย่างแรกของความตีบตันทางเศรษฐกิจในสิบกว่าปีที่ผ่านมา ที่เศรษฐกิจโตน้อยและยังกระจุกตัวอยู่ในมือคนจำนวนน้อย คนส่วนมากของประเทศเข้าไม่ถึง

ส่วนความตีบตันทางการเมืองนั้นสิบกว่าปีที่ผ่านมาสะท้อนพัฒนาการของการเมืองไทย พัฒนาการธุรกิจยังเปลี่ยนจากระบบครอบครัวมาสู่แบบมืออาชีพมากขึ้น แต่พัฒนาการของการเมืองไทยมีนิมินีที่กำลังจะลงไปถึงเหลนแล้ว ลูกก็แล้ว หลานก็แล้ว เหลนกำลังจะมาอีกแล้ว เป็นระบบครอบครัวที่หนาแน่นขึ้นมากเรื่อยๆ ซึ่งสวนกับการสร้างมืออาชีพที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป

และข้อสำคัญคือผู้นำบางคนก็พยายามเล่นบทวัฒนธรรมการเมืองแบบไทยๆ ที่ใหญ่เล็กกินรวบ โดยถ้าจะให้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นก็ใช้วิธีโปรยทานไปเรื่อยๆ

การเมืองของเรามีปัญหาเหลือเกินในช่วงที่ผ่านมา เมื่อการเมืองมีปัญหาเราอย่าไปคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีองคาพยพทางการเมืองที่มีคุณภาพที่จะทำให้เราดำเนินอะไรในหลายๆ ด้านได้ เพราะหลายด้านเรายังต้องพึ่งพากลไกทางการเมือง เช่น การกำหนดนโยบาย การกระจายทรัพยากรทางเศรษฐกิจ บางเรื่องเอกชนและประชาชนก้ทำเองไม่ได้ ต้องอาศัยองคาพยพทางการเมืองมาช่วยจัดสรร แต่ขณะนี้องคาพยพทางการเมืองมีประสิทธิภาพแค่ไหนนั้น ทุกคนลองคิดดู

เรื่องความเสื่อมถ้อยในด้านสังคมนั้นไม่ต้องพูดถึงว่า เสื่อมถอยขนาดไหน ทุกแวดวงเหมือนกันหมด และประเด็นเรื่องประเพณีวัฒนธรรมก็ยิ่งชัดเจน ทั้งหมดคือความเสื่อมถอยของ 4 ตัวแปรในสังคมไทย เศรษฐกิจ การเมือง สังคม ประเพณีและวัฒนธรรม โดยความเสื่อมทั้งหมดเกิดขึ้นท่ามกลางความขับเคลื่อนในสภาวะโลกาภิวัฒน์ที่ เป็นเรื่องของโลกไร้พรมแดน ซึ่งโลกไร้พรมแดนบ่อยครั้งนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงนานัปประการ

ตัวอย่างเช่น เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องที่มาจากความเปลี่ยนของเศรษฐกิจโลก ฉะนั้นภาวการณ์แบบนี้จึงนำไปสู่ตัวแปรของการบริหารจัดการประเทศที่ไร้ ประสิทธิภาพ ความไร้ประสิทธิภาพ การตกชั้นทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยนอกจากไร้ทิศทางทางเศรษฐกิจแล้วยังตกชั้นทางเศรษฐกิจ และการแก้ไขที่ผ่านมาเราแก้ไขปัญหาเฉพาะด้าน ตัวอย่างเช่น การจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 250บาท

ซึ่งการแก้ปัญหาความตีบตันทางการเมืองของไทยนั้นต้องจำกัดความตีบตันของปัจจัยด้าน สถาบัน ไม่ว่าสถาบันทางเศรษฐกิจ สถาบันทางการเมือง สถาบันทางสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบกฎหมาย และการบริหารจัดการระบบกฎหมาย ที่เรียกว่า การบริหารจัดการระบบความยุติธรรม เมื่อเรามีความตีบตันทางสถาบันมันจะนำไปสู่ความบิดเบี้ยวของกระบวนการกำหนด นโยบาย ที่จะทำให้การจัดการความขัดแย้งไม่ลงตัว มีแต่ขยายตัวมากขึ้น ถ้าจะนำไปสู่การปรองดองต้องทำให้เกิดความขัดแย้งที่สามารถจัดการได้ ต้องคำนึงถึง 4 ตัวแปรที่ว่าว่าจะต้องบริหารจัดการอย่างไร ต้องดูที่ต้นเหตุของความขัดแย้ง ”


ปฏิรูปต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการปฏิรูป (คปร.)และกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.)

“ปัญหาของสังคมไทยทั้งหมดเกิดจากความสัมพันธ์เชิงอาจที่ไม่เสมอภาค นำไปสู่ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าส่วนกลางหรือระดับล่างลงไป ประเด็นคือเราไม่สามารถรับมือกับโลกาภิวัฒน์ได้ ทั้งหมดเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ผิดเพี้ยนและไม่เสมอภาค เพราะในความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบนี้รัฐและกลุ่มคนกลไกรัฐบวกกับกลุ่มทุนได้ เปรียบที่สุด เมื่อใดก็ตามที่กลุ่มทุนและกลุ่มคนกลไกรัฐขัดแย้งกันความรุนแรงก็จะเกิดขึ้น ส่วนประชาชนเป็นฝ่ายเสียเปรียบที่ยิ่งใหญ่มาก ร้ายแรงมาก

ผลที่ปรากฎชัดที่ประชาชนเสียเปรียบชัด คือ รายได้ สิทธิ โอกาส อำนาจ ศักดิ์ศรี พบว่ารายได้นั้นแปรผันตามอำนาจ มีอำนาจมากกว่าก็มีรายได้มากกว่า แล้วคนมีอำนาจมากก็มีสิทธิมาก สิทธิในสังคมก็แปรผันตามอำนาจ โอกาสของคนก็แปรผันตามอำนาจ อำนาจต่อรองของคนก็แปรผันตามอำนาจที่คนมีอยู่ด้วย และศักดิ์ศรีก็แปรผันตามอำนาจอีก

ดังนั้นถ้าเราจะทำการปฏิรูปก็ต้องปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ในการจัดสรร แบ่งปัน แข่งขัน ช่วงชิงผลประโยชน์ เมื่อใดก็ตามที่ปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจนี้มุ่งจัดสรร แบ่งปันความรุนแรงและความขัดแย้งก็จะไม่เกิดขึ้น แต่เมื่อใดก็ตามที่ปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจนี้มุ่งที่แข่งขัน ช่วงชิงความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้น

ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นคิดว่าขึ้นอยู่กับ 1.ผลิตภาพหรือประสิทธิภาพคน ซึ่งอยู่ความรู้ เทคโนโลยี ระบบการศึกษา 2.การจัดการสังคม แต่ระบบทุนนิยมของเราทำให้คนช่วงชิงกันเอง และยังถูกช่วงชิงจากโลกาภิวัฒน์ จากต่างประเทศเข้ามาช่วงชิงด้วย และ3.การใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่และถูกต้อง"

ถ้าเราต้องการที่จะปฏิรูปโดยยอมรับปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจของคนที่ต่างกัน และเหลื่อมกัน แต่ขอได้ไหมว่าให้ปฏิสัมพันธ์ที่ว่านี้อยู่ในการจัดสรร แบ่งปัน อย่าแข่งขัน ช่วงชิงอำนาจกันเกินไป ถ้าเราอยู่ในระบบจัดสรร แบ่งปันผมเชื่อว่าทรัพยากรที่เรายังมีอยู่ยังเพียงพอเพื่อคนส่วนใหญ่ แต่เราอาจจะไม่รวย แต่รับประกันได้เราไม่อดอยากแน่นอน

ยุทธศาสตร์การปฏิรูปที่พวกเราเสนอคือการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจระหว่างรัฐไทยกับอำนาจโลกาภิวัฒน์ หรือระหว่างรัฐกับประชาชน ต้องปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ใหม่ จากการเปิดพื้นที่ทางสังคมให้ทุกคนได้แสดงผลประโยชน์ของตนเอง และยอมรับผลประโยชน์ของคนอื่น และเกลี่ยๆ กันจะได้หรือไม่ นั่นคือเป้าหมายการปฏิรูปที่สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม”
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น