วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

ทิศทางกระทรวงตาชั่งยุค'ประชา'


วันที่ 01 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7581 ข่าวสดรายวัน


ทิศทางกระทรวงตาชั่งยุค'ประชา'


รายงานพิเศษ



หมายเหตุ- พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม นัดประชุมผู้บริหารกระทรวงเพื่อมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการ ที่อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ก กระทรวงยุติธรรม เมื่อเร็วๆ นี้ 



เรื่องที่ถือว่ามีความสำคัญสูงสุด

กระทรวงดำรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์ ส่งเสริมและเผยแพร่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้สังคมไทยรู้รักสามัคคี ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง 

ตลอดจนพิทักษ์ปกป้อง ป้องกัน และปราบปรามผู้กระทำความผิดต่อสถาบัน 

1.นโยบายทั่วไป 

(1) สานต่อวิสัยทัศน์ของกระทรวง มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เน้นบูรณาการงานยุติธรรมทั้งระบบ รวมทั้งแผนงาน โครงการ และงบประมาณต่างๆ 

เป็นหลักเสริมสร้างความยุติธรรมอย่างทั่วถึงถ้วนหน้า โดยระดมความร่วมมือจากทุกหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน โดยเฉพาะคนจนและผู้ด้อยโอกาส 

เพื่อเสริมสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ความสามัคคีปรองดอง และความสงบสุขของชาติบ้านเมือง 

(2) ปรับแผน มาตรการ และแนวทางการปฏิบัติต่างๆ รองรับนโยบายของรัฐบาล แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ นโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปีแรก และนโยบายการบริหารราชการ 4 ปี 

บางนโยบายต้องสอดคล้องกับการดำเนินงานของคณะกรรมการระดับชาติที่ตั้งขึ้น เช่น คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) 

และคณะกรรมการตามกฎหมายพิเศษต่างๆ เช่น คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ คณะกรรมการคดีพิเศษ คณะกรรมการ ป.ป.ส., ป.ป.ง., ป.ป.ท. เป็นต้น

(3) พัฒนาองค์กรและกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานตามหลักรัฐธรรมนูญและวิชาชีพ สนองตอบความต้องการของประชาชนได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว เสมอภาค และเป็นธรรม 

(4) เร่งปรับปรุงระบบการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมด้วยมาตรการเชิงรุก ให้เข้าถึงความเป็นธรรมได้ง่าย รวดเร็ว 

ทั้งการช่วยเหลือด้านกฎหมาย ส่งเสริมกองทุนยุติธรรมเพื่อคุ้มครองช่วยเหลือคนจนและผู้ด้อยโอกาส คุ้มครองดูแลรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน เยียวยาผู้บริสุทธิ์และผู้ได้รับผลกระทบที่เกี่ยวข้อง 

พร้อมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยุติธรรมระดับชุมชนและหมู่บ้าน นำกระบวนการยุติธรรมทางเลือกและการพัฒนาทางเลือกอื่นๆ มาใช้ให้มากขึ้น

(5) ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก่อให้เกิดความยุ่งยาก ซ้ำซ้อน สร้างภาระที่ไม่จำเป็นแก่ประชาชน พร้อมทั้งริเริ่มพัฒนากฎหมายใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานในปัจจุบัน 

(6) ยึดหลักนิติธรรม การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี ทำงานอย่างมีเอกภาพและบูรณาการ ส่งเสริมกระบวนการทางสังคมและการมีส่วนร่วมของประชาชน 

2.นโยบายเฉพาะ

(1) สร้างความปรองดองสมานฉันท์ เยียวยาฟื้นฟูตามนโยบายเร่งด่วนของนโยบายรัฐบาล สนับสนุน คอป. ด้านการเยียวยา 

การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จะนำแนวทางข้อเสนอแนะของ คอป. ไปปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย 

(2) ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยระดมความร่วมมือสามัคคีของทุกฝ่ายให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ยึดหลักผู้เสพคือผู้ป่วย ผู้ค้าคือผู้กระทำผิดที่ต้องรับโทษตามกฎหมาย นำมาตรการด้านการฟอกเงินและด้านภาษีดำเนินการกับผู้ค้าหรือนายทุน 

(3) แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยน้อมนำกระแสพระราชดำรัส 'เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา' เป็นหลักปฏิบัติในทางสันติ เร่งสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายและสิทธิเสรีภาพของประชาชน 

ด้านการปราบปราม เน้นการทำงานเชิงบูรณาการ สนธิกำลังทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองร่วมกันสืบสวนหาข่าว ปราบปรามยาเสพติด องค์กรอาชญา กรรม

ด้านการสอบสวนดำเนินคดี การลงโทษผู้กระทำผิดและการบังคับคดี ให้ร่วมกับทุกหน่วยงานเสนอแนวทางปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบอย่างเป็นธรรม

(4) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หากพบเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ให้ใช้มาตรการทางวินัยและปกครองทันที ซึ่งผู้บังคับบัญชาต้องร่วมรับผิดชอบด้วย และให้ดำเนินคดีอาญาอย่างเฉียบขาด 

(5) ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตามความผิดมูลฐาน สนับสนุนการบูรณาการด้านข้อมูลข่าวสาร การข่าว การดำเนินการกับทรัพย์สินและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 

(6) เพิ่มโอกาสการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน สานต่อนโยบายการกระจายงานจากส่วนกลางออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยขยายผลโครงการสำนักงานยุติธรรมจังหวัดนำร่อง 

(7) แก้ปัญหานักโทษล้นคุก ให้กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพร่วมกับหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ตำรวจ อัยการ ศาล ทนายความ และนักวิชาการ 

ให้การคุมขังให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่น การใช้เครื่องพันธนาการ โซ่ตรวนกับผู้ต้องขัง 

(8) เสนอแนวทางปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กรมบังคับคดีสำรวจว่า 'คดีโลกร้อน' มีกี่ราย แล้วเสนอแนวทางแก้ปัญหา 

(9) พัฒนาการสอบสวนคดีพิเศษให้มีประสิทธิ ภาพขึ้น มีอิสระในการปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพ สามารถสอบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำผิดทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

(10) พัฒนางานนิติวิทยาศาสตร์ ให้สานต่อการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ทุกๆ ด้านตามมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง สามารถสนับสนุนการสอบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำผิดได้อย่างถูกต้องเที่ยงธรรม 

พร้อมทั้งดำเนินการในส่วนของการติดตามคนหาย การพิสูจน์ศพนิรนาม และสรุปบทเรียนที่ผ่านมา จัดทำแผนเผชิญเหตุและวางระบบงานเตรียมการรองรับเหตุภัยพิบัติต่างๆ 

(11) คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ช่วยเหลือทางกฎหมายแก่คนจนและผู้ด้อยโอกาส คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคู่ความ พยาน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม

และเร่งเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริสุทธิ์และผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

(12) ปรับปรุงพัฒนาระบบงานบังคับคดีทุกด้านให้เกิดความเป็นธรรม ทั้งแก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ ตลอดจนให้ร่วมกับหน่วยเกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างและอัตรากำลังให้เหมาะสมกับปริมาณและคุณภาพของงาน

(13) การพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ให้ยึดถือหลักปฏิบัติเสมือนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด ให้โอกาสเป็นคนดีคืนสู่สังคม ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก โดยระดมความร่วมมือจากสถาบันครอบครัวและชุมชน 

(14) การคุมประพฤติและบังคับบำบัด ให้แสวงหาข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อการลงโทษอย่างแท้จริง มีการติดตาม ดูแลช่วยเหลือ และพัฒนาผู้กระทำผิดให้เหมาะสมมากที่สุด เพื่อให้ดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข 

เน้นอาสาสมัครคุมประพฤติและการมีส่วนร่วมของประชาชนระดับชุมชนและหมู่บ้าน พร้อมร่วมกับทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องหาแนวทางเพิ่มประสิทธิ ภาพการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในระบบบังคับบำบัด นำระบบคุมประพฤติใช้แก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก

(15) จัดสร้าง ปรับปรุง และพัฒนาเรือนจำและทัณฑสถานให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ มีมาตรฐาน หมั่นสอดส่องดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังอย่างใกล้ชิด ให้ได้รับการปฏิบัติที่ถูกต้องตามมาตรฐาน ได้รับสิทธิอันพึงมีพึงได้ตามกฎหมาย

เพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขฟื้นฟูพัฒนาผู้กระทำความผิดและการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดในระบบต้องโทษ และเร่งขจัดปัญหายาเสพติดในเรือนจำและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนพัวพันเกี่ยวข้อง

เร่งสร้างขวัญกำลังใจและแรงจูงใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ และเป็นแบบอย่างที่ดี 

(16) บุคลากรของกระทรวงยุติธรรมที่ปฏิบัติงานทุกกรมจะต้องมีความเสมอภาค มีอัตราเงินเดือนและเงินเพิ่มเท่าหรือใกล้เคียงกัน และมีความก้าวหน้าที่เหมือนกัน


หน้า 3 

http://goo.gl/fF4JS
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น