วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เสียงสะท้อนจากนักวิชาการต่างชาติ หลัง "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" ถูกกองทัพฟ้องร้องในคดีหมิ่นฯ

เสียงสะท้อนจากนักวิชาการต่างชาติ หลัง "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" ถูกกองทัพฟ้องร้องในคดีหมิ่นฯ

วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 22:00:00 น.







(ที่มา  รายงานข่าวของอัจฉรา อัชฌายกชาติ ในเว็บล็อกนิว มันดาลา -นวมณฑล-)


ภายหลังจากนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา กรณีที่กองทัพบกยื่นฟ้องในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่สน.นางเลิ้ง เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีนักวิชาการต่างชาติหลายคนได้แสดงความเห็นในกรณีดังกล่าว ดังนี้


"เควิน ฮิววิสัน" นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนอร์ธ คาโรไลน่า ที่ ชาเปล ฮิลล์ แสดงความเห็นว่า การกล่าวโทษดำเนินคดีต่อนายสมศักดิ์ ถือเป็นการท้าทายคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เคยระบุว่า การวิพากษ์วิจารณ์ในทางวิชาการนั้นถือเป็นสิ่งที่ควรรับฟังอย่างอดทนอดกลั้น


"นายกฯ อภิสิทธิ์จะสามารถให้ความชอบธรรมแก่ปฏิบัติการฟ้องร้องทางกฎหมายที่มีต่อนักวิชาการที่มีชื่อเสียงผู้นี้ได้อย่างไร?" ฮิววิสันตั้งคำถาม


ขณะที่เคร็ก เรย์โนลด์ส นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ตั้งคำถามว่า "ทำไมกองทัพจึงฟ้องร้องดำเนินคดีกับนักประวัติศาสตร์?" และว่า "แม้นี่จะไม่ใช่ครั้งแรกที่กองทัพฟ้องร้องพลเรือน แต่การดำเนินคดีในทุกๆ กรณี ก็ควรจะผ่านการตรวจสอบพิจารณาอย่างรอบคอบรัดกุม" เรย์โนลด์ส กล่าว


นักวิชาการต่างประเทศยังไม่ได้วิตกกังวลกับกรณีของนายสมศักดิ์เพียงเท่านั้น แต่พวกเขายังห่วงใยในกรณีอื่นๆ ที่ทำให้การมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นในสังคมไทยมีพื้นที่ที่หดแคบลง อาทิ การบุกจับสถานีวิทยุชุมชนของคนเสื้อแดง และการจับกุมนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ในฐานะผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112


"บรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบัน  รวมทั้งการดำเนินคดีตามกระบวนการทางกฎหมายและการข่มขู่คุกคามนอกกฎหมาย ได้ส่งผลให้การพูดจาแสดงความคิดเห็นถูกจำกัดพื้นที่ลง ทั้งยังถือเป็นการทำให้ความเห็นต่างในสังคมไทยต้องเงียบเสียงลงด้วย" ไทเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียกล่าวและว่า "นี่จะยิ่งเป็นการสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงขึ้นต่อประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศไทย"

 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น