วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ขอทาน : ใครได้ทานกันแน่?

ขอทาน : ใครได้ทานกันแน่?

วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 10:33:42 น

นิ้วกลม

www.facebook.com/Roundfinger.BOOK


1  

 

คุณผู้อ่านเคยให้เงินขอทานกันไหมครับ

ลองอีกสักคำถาม-คุณผู้อ่านเป็นคนหนึ่งที่ชอบให้เงินขอทานหรือเปล่าครับ

ผมมีเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง เธอเป็นคนใจดีและขี้สงสาร เธอมักควักเงินออกมาหย่อนใส่กระป๋องของขอทานอยู่เสมอๆ 

ถ้ามีขอทานนั่งเรียงรายกันอยู่ เธอก็หย่อนเงินลงไปในทุกกระป๋องเลยทีเดียว

น้องสาวคนนี้เป็นแรงบันดาลใจคนสำคัญที่ทำให้เพื่อนๆ พี่ๆ ที่อยู่รอบตัวเธอหันมาให้เงินขอทานกันแบบไม่ต้องคิดอะไรให้ซับซ้อน

ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น และชื่นชมในการให้ของน้อง



2

ผมเคยเขียนถึงการให้เงินขอทาน ในทำนองว่า การที่เราให้เงินขอทานนั้นนับเป็นการฝึกฝนให้เรารู้จักการเสียสละ รู้จักให้ และบางคนก็ดูเหมือนจะตั้งแง่กับการให้โดยคิดนู่นนี่ซับซ้อน เช่น เงินที่เราให้ไปจะถึงมือขอทานคนนี้จริงๆ หรือเปล่า เด็กขอทานคนนี้มีมาเฟียอยู่เบื้องหลังไหม 

ทำให้สุดท้ายแล้วลงเอยด้วยการที่เราไม่ให้เงินขอทาน

ผมอาจจะคิดง่ายไปนิด ตอนนั้นผมคิดว่าถ้าคนเราอยากจะให้ มีจิตใจที่จะให้ เราก็ไม่น่าจะต้องคิดอะไรที่ซับซ้อนนัก

อาจเพราะผมมองในมุมของ "ผู้ให้"

โดยมองข้ามมุมของ "ผู้รับ" ไป

ในตอนนั้นผมจึงไม่เห็นด้วยกับการที่บางคนบอกว่าการให้เงินขอทานหรือเด็กๆ ที่มานั่งพนมมือขอเงินจะเป็นการสนับสนุนแก๊งมาเฟียเหล่านั้นทางอ้อม

เพราะผมคิดว่า หน้าที่ดูแลในส่วนนี้น่าจะเป็นของเจ้าหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ

แต่แล้วความคิดของผมก็เปลี่ยนไปในวันหนึ่ง



3

วันนั้น น้องผู้อ่านคนหนึ่งทวีตข้อความมาบอกผมทางทวิตเตอร์ว่า มีพี่ที่มูลนิธิกระจกเงาเขียนวิจารณ์ข้อเขียนของผม อยากให้เข้าไปอ่าน เผื่อจะได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน

ผมจึงลองเข้าไปอ่านเฟซบุ๊กของคุณเอก จากมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง

คุณเอกเขียนถึงข้อเขียนของผมชิ้นนั้นไว้ในเฟซบุ๊กว่า

ผมคิดว่าวิธีคิดแบบสุขนิยมลักษณะนี้จะทำให้ปัญหาต่างๆ ในสังคมยังคงดำรงอยู่ เพราะต่างคนต่างมุ่งจะทำเพื่อให้ตัวเองมีความสุขเท่านั้น ส่วนปัญหาของสังคมถูกผลักภาระให้เป็นเพียงหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง - วันหนึ่งสังคมจะอยู่อย่างไรครับ ถ้าทุกคนเห็นปัญหาของสังคมแล้วอ้างว่าธุระไม่ใช่ ฉันไม่อยากรับรู้ ฉันต้องการเพียงความสุข ความสบายใจ และหน้าที่นี้ไม่ใช่ของฉัน

แวบแรกที่ได้อ่าน ผมคิดว่าคุณเอกกำลังเข้าใจเจตนาของผมผิดเป็นแน่ ผมไม่ได้มีความคิดทำนองผลักภาระ และคิดเพียงว่าฉันให้แล้วสุขใจก็พอแล้ว ตรงกันข้าม, ผมกลับคิดว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบกลับต้องผลักภาระปัญหาขอทานมาให้คนทั่วไปว่า "คุณอย่าให้เงินขอทาน" และผมเขียนงานชิ้นนั้นขึ้นมาด้วยเจตนาที่อยากเชิญชวนให้หันมาคิดถึงเพื่อนร่วมสังคมบ้าง และขอทานก็เป็นหนึ่งในนั้นเท่านั้น

แต่หลังจากได้อ่านข้อความในเฟซบุ๊กของคุณเอก ผมก็คิดว่า เป็นไปได้ว่าผมอาจจะรู้ข้อมูลไม่ครอบคลุมเพียงพอ ปัญหาขอทานอาจจะใหญ่และกว้างกว่าที่ผมคิด

จึงถือโอกาสอธิบายเจตนาของตัวเอง และขอความรู้จากคุณเอกซึ่งทำงานด้านนี้โดยตรง

แล้วผมก็ได้คำตอบที่ตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงแห่งมิตรภาพ



4

คุณเอกอธิบายปัญหาให้ฟังว่า การที่เราให้เงินเด็กที่ออกมาขอทานนั้นเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้ผู้ใหญ่ใจร้ายล่อลวงเด็กๆ หรือพาเด็กๆ ออกมาขอทาน

เพราะเขารู้ว่า คนส่วนใหญ่สงสารเด็ก

ที่เราคิดว่าเราช่วยให้เงินเด็กนั้น แท้จริงแล้วเรากลับเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กๆ ต้องมาเป็นขอทานเพิ่มมากขึ้น

เพราะเขารู้ว่ามันได้ผล

คุณเอกยังอธิบายต่อไปอีกว่า ตัวละครที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไม่ได้มีเพียงแค่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องนี้เท่านั้น

แต่ยังมีเด็กขอทาน พ่อแม่ที่พาลูกมาเป็นขอทาน พ่อแม่ที่ขายลูกไปเป็นขอทาน นายหน้าที่คุมเด็กขอทาน

และที่ขาดไม่ได้คือ พวกเรา-คนให้เงินขอทานนี่เอง

ซึ่งคนให้เงินนี่เองที่เป็นตัวละครที่มีจำนวนมากที่สุด กลุ่มใหญ่ที่สุด

จึงเป็นตัวละครที่สำคัญที่สุด

ตราบใดที่คนกลุ่มนี้ยังให้เงินขอทาน เราก็ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ 

คุณเอกบอกว่า วิธีแก้ปัญหาที่ได้ผล และจะช่วยเด็กๆ เหล่านี้ได้มากกว่าการให้เงิน ก็คือการไม่ให้เงิน

คือเปลี่ยนจากการให้เงินมาเป็นหุ้นส่วนของสังคมด้วยการไม่ยอมรับการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการหาผลประโยชน์

ซึ่งน่าจะเป็นการแก้ปัญหาได้ลึกกว่าแค่การให้เงินเด็กด้วยความสงสารเป็นครั้งคราว

คุณเอกยังบอกอีกว่า ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐเอาจริง จะกวาดล้างเด็กขอทานให้หมดประเทศก็ทำได้ 

แต่เด็กขอทานก็จะถูกนำกลับมาใหม่อีกในไม่ช้า ตราบที่การ "ขายความสงสาร" ยังคงเป็นธุรกิจที่ได้กำไรงามจากคนขี้สงสารอยู่ดังเดิม

ตราบที่ยังมีคนให้เงิน

คุณเอกสะกิดเตือนผมว่า เราคงต้องคิดกันให้ลึกว่า 

เงินที่เรา "ให้" นั้น ใครกันแน่ที่ "ได้รับ"



5

ผมเข้าไปขอบคุณคุณเอกที่ให้ความรู้ และชวนคุยต่ออีก ซึ่งคุณเอกก็สละเวลาให้ข้อมูลเพิ่มเติมมาอีกว่า รูปแบบของการพาเด็กมาขอทานในสมัยนี้เปลี่ยนไปจากเดิม

แต่ก่อนอาจจะพาขอทานมากันเป็นคันรถ คนที่พามาอาจจะเป็นนายหน้า บางทีก็ไปเช่าเด็กมา ไปซื้อเด็กมา บางทีก็ลักพาตัวมา บางรายถึงขั้นไปเสนอเงินให้พ่อแม่ของเด็กเพื่อพามาเป็นขอทาน

แต่ช่วงหลัง พอพ่อแม่เห็นช่องทางก็นำเด็กเข้ามาเองเลย

หลายรายก็มาจากนอกประเทศ

เมื่อพ่อแม่พาเด็กเข้ามาหลายรอบ เห็นลู่ทาง ก็กลายร่างไปเป็นนายหน้า ไปพาเด็กคนอื่นๆ ในหมู่บ้านมาเพิ่มอีก

เรื่องที่ซับซ้อนคือ การพิสูจน์ว่าเด็กเป็นลูกคนที่พามาจริงหรือไม่นั้นต้องใช้งบประมาณสูง

ผู้หญิงขอทานที่อุ้มเด็กบางคนพอถูกจับก็อ้างว่าเป็นลูกของเธอ การพิสูจน์ก็ทำได้ยากมากเนื่องจากข้อจำกัดที่ว่านั้น

บางทีก็เป็นแม่ลูกกันจริง แต่แม่แต่งตัวสะอาดสะอ้าน นั่งกินอาหารดีๆ รอลูกอยู่ในที่ร่ม ขณะที่ลูกแต่งตัวมอมแมมนั่งขอทานอยู่กลางแดดร้อนเป็นชั่วโมง

ซึ่งการที่จะจับพ่อแม่เด็กตัวจริงเหล่านี้ก็จะมีปัญหาตามมาอีก เพราะพ่อแม่ที่พาลูกมาขอทานนั้นมีความผิดข้อหาค้ามนุษย์ ติดคุกขั้นต่ำสี่ปี แล้วเด็กจะอยู่กับใคร ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาสังคมที่วนกลับมาอีกรอบหนึ่ง

คุณเอกจึงแนะนำว่า วิธีแก้ปัญหาที่ดีคือ แทนที่เราจะหยิบเศษเงินขึ้นมาเพื่อให้เด็กเหล่านั้นด้วยความสงสาร เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นเด็กต้องนั่งขอทานอยู่ข้างถนน ไม่ว่าลูกใครหรือเด็กชาติใดก็ตาม ให้นำเศษเงินที่จะให้เขาเหล่านั้นมาโทร.แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่เพื่อมาตรวจสอบและช่วยเหลือเด็กน่าจะดีกว่า

อ่านที่คุณเอกอธิบายมาถึงตรงนี้ ผมต้องยอมรับว่า ผมมองเรื่องขอทานง่ายและแคบเกินไปจริงๆ ครับ

จึงบอกกับคุณเอกว่า ถ้ามีโอกาสเมื่อไหร่จะเป็นอีกหนึ่งแรงที่ช่วยเผยแพร่ข้อมูลที่มีประโยชน์เหล่านี้

การได้คุยกับคุณเอกทำให้ผมมองปัญหาขอทานเปลี่ยนไปมาก

จึงอยากนำข้อมูลมาฝากกันครับ

ไม่แน่ เราอาจจะต้องตั้งคำถามกันใหม่

ไม่ใช่ "คุณเคยให้เงินขอทานไหม"

มาเป็น "คุณเคยโทร.แจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อเห็นเด็กต้องมาเป็นขอทานบ้างไหมครับ"


                            

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น