วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วันพฤหัสที่ 26 พฤษภาคม 2554 เวลา 19.00 – 21.00 น. ณ NetDesign สาขาเมเจอร์รัชโยธิน ชั้น 3 บริเวณโรงภาพยนตร์

หัวข้อ "Fanpage Marketing" การทำการตลาดด้วย Facebook Fanpage


ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาในหัวข้อ "Fanpage Marketing" การทำการตลาดด้วย Facebook Fanpage

     จัดโดย: NetDesign

     ในปัจจุบันเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่ง Social Media อย่าง Facebook เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น และ Facebook กลายเป็นช่องทางใหม่ของการทำการตลาดออนไลน์ในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า "Social Media Marketing" เป็นการสร้าง Fanpage ในกับธุรกิจของคุณให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

     "แล้วจะทำอย่างไร ให้ Fanpage ของคุณ แบรนด์ของคุณ ธุรกิจของคุณ เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น"

     สัมมนานี้สามารถตอบโจทย์ของคุณได้อย่างแน่นอน !!

     วัตถุประสงค์
1. เข้าใจความแตกต่างระหว่าง Facebook Profile กับ Facebook Fanpage
2. รู้จัก Facebook เว็บ Social Network อันดับ 1
3. ประยุกต์ใช้ Facebook Fanpage ในการโปรโมทตัวเอง และโปรโมทธุรกิจ
4. เรียนรู้เทคนิคลูกเล่นต่างๆ ที่นำมาใช้โปรโมท Facebook Fanpage
     วันที่อบรม สัมมนา:
     ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในวันพฤหัสที่ 26 พฤษภาคม 2554 เวลา 19.00 – 21.00 น.

     หัวข้ออบรม สัมมนา:
1. ความรู้เบื้องต้นในการใช้ Facebook เพื่อธุรกิจ : Facebook Fanpage
2. การสร้าง Facebook Page และความรู้เบื้องต้นทางเทคนิคที่สำคัญ
3. ขั้นตอนของการสร้าง Brand Personality
4. กำหนดเนื้อหาการตลาดผ่าน Facebook
5. Case Study : การใช้ Facebook Page ที่ประสบความสำเร็จของ Brand ต่างๆ
     วิทยากร:
     คุณ กิตติคม ฐิติวัฒนา
     กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็ตดีไซน์ แร็งค์ จำกัด

     ค่าลงทะเบียน/โปรโมชั่น:
• ผู้สนใจและบุคคลทั่วไป ราคาเข้าร่วมสัมมนา 100 บาท ต่อที่นั่ง
• นักเรียน NetDesign และศิษย์เก่า เข้าอบรมฟรี โดยต้องมัดจำก่อนวันงาน 100 บาท (จะได้รับเงินมัดจำคืนหน้างาน)
• นักเรียน NetDesign สามารถเข้าร่วมงานสัมมนาของสถาบันได้ฟรี จำนวน 1 ครั้ง
     คุณสมบัติผู้เข้าอบรม สัมมนา:
     เหมาะกับใคร
1. นักศึกษาทั่วไป เพื่อใช้ Fanpage แทน Resume
2. นักธุรกิจรุ่นใหม่ เพื่อโปรโมทสินค้าและบริการของธุรกิจ
3. นักการตลาด เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ๆ ให้ลูกค้า
     จำนวนที่รับ:
     รับจำนวนจำกัดเพียง 30 ที่นั่งเท่านั้น

     สถานที่จัดอบรม สัมมนา:
     ณ NetDesign สาขาเมเจอร์รัชโยธิน ชั้น 3 บริเวณโรงภาพยนตร์

     ลงทะเบียน/สำรองที่นั่งได้ที่:
     สามารถสำรองที่นั่งได้ที่ NetDesign ทุกสาขา
     หรือสำรองผ่านเว็บไซต์ได้ที่ http://netdesign.ac.th/seminar.php



วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ขอทาน : ใครได้ทานกันแน่?

ขอทาน : ใครได้ทานกันแน่?

วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 10:33:42 น

นิ้วกลม

www.facebook.com/Roundfinger.BOOK


1  

 

คุณผู้อ่านเคยให้เงินขอทานกันไหมครับ

ลองอีกสักคำถาม-คุณผู้อ่านเป็นคนหนึ่งที่ชอบให้เงินขอทานหรือเปล่าครับ

ผมมีเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง เธอเป็นคนใจดีและขี้สงสาร เธอมักควักเงินออกมาหย่อนใส่กระป๋องของขอทานอยู่เสมอๆ 

ถ้ามีขอทานนั่งเรียงรายกันอยู่ เธอก็หย่อนเงินลงไปในทุกกระป๋องเลยทีเดียว

น้องสาวคนนี้เป็นแรงบันดาลใจคนสำคัญที่ทำให้เพื่อนๆ พี่ๆ ที่อยู่รอบตัวเธอหันมาให้เงินขอทานกันแบบไม่ต้องคิดอะไรให้ซับซ้อน

ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น และชื่นชมในการให้ของน้อง



2

ผมเคยเขียนถึงการให้เงินขอทาน ในทำนองว่า การที่เราให้เงินขอทานนั้นนับเป็นการฝึกฝนให้เรารู้จักการเสียสละ รู้จักให้ และบางคนก็ดูเหมือนจะตั้งแง่กับการให้โดยคิดนู่นนี่ซับซ้อน เช่น เงินที่เราให้ไปจะถึงมือขอทานคนนี้จริงๆ หรือเปล่า เด็กขอทานคนนี้มีมาเฟียอยู่เบื้องหลังไหม 

ทำให้สุดท้ายแล้วลงเอยด้วยการที่เราไม่ให้เงินขอทาน

ผมอาจจะคิดง่ายไปนิด ตอนนั้นผมคิดว่าถ้าคนเราอยากจะให้ มีจิตใจที่จะให้ เราก็ไม่น่าจะต้องคิดอะไรที่ซับซ้อนนัก

อาจเพราะผมมองในมุมของ "ผู้ให้"

โดยมองข้ามมุมของ "ผู้รับ" ไป

ในตอนนั้นผมจึงไม่เห็นด้วยกับการที่บางคนบอกว่าการให้เงินขอทานหรือเด็กๆ ที่มานั่งพนมมือขอเงินจะเป็นการสนับสนุนแก๊งมาเฟียเหล่านั้นทางอ้อม

เพราะผมคิดว่า หน้าที่ดูแลในส่วนนี้น่าจะเป็นของเจ้าหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ

แต่แล้วความคิดของผมก็เปลี่ยนไปในวันหนึ่ง



3

วันนั้น น้องผู้อ่านคนหนึ่งทวีตข้อความมาบอกผมทางทวิตเตอร์ว่า มีพี่ที่มูลนิธิกระจกเงาเขียนวิจารณ์ข้อเขียนของผม อยากให้เข้าไปอ่าน เผื่อจะได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน

ผมจึงลองเข้าไปอ่านเฟซบุ๊กของคุณเอก จากมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง

คุณเอกเขียนถึงข้อเขียนของผมชิ้นนั้นไว้ในเฟซบุ๊กว่า

ผมคิดว่าวิธีคิดแบบสุขนิยมลักษณะนี้จะทำให้ปัญหาต่างๆ ในสังคมยังคงดำรงอยู่ เพราะต่างคนต่างมุ่งจะทำเพื่อให้ตัวเองมีความสุขเท่านั้น ส่วนปัญหาของสังคมถูกผลักภาระให้เป็นเพียงหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง - วันหนึ่งสังคมจะอยู่อย่างไรครับ ถ้าทุกคนเห็นปัญหาของสังคมแล้วอ้างว่าธุระไม่ใช่ ฉันไม่อยากรับรู้ ฉันต้องการเพียงความสุข ความสบายใจ และหน้าที่นี้ไม่ใช่ของฉัน

แวบแรกที่ได้อ่าน ผมคิดว่าคุณเอกกำลังเข้าใจเจตนาของผมผิดเป็นแน่ ผมไม่ได้มีความคิดทำนองผลักภาระ และคิดเพียงว่าฉันให้แล้วสุขใจก็พอแล้ว ตรงกันข้าม, ผมกลับคิดว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบกลับต้องผลักภาระปัญหาขอทานมาให้คนทั่วไปว่า "คุณอย่าให้เงินขอทาน" และผมเขียนงานชิ้นนั้นขึ้นมาด้วยเจตนาที่อยากเชิญชวนให้หันมาคิดถึงเพื่อนร่วมสังคมบ้าง และขอทานก็เป็นหนึ่งในนั้นเท่านั้น

แต่หลังจากได้อ่านข้อความในเฟซบุ๊กของคุณเอก ผมก็คิดว่า เป็นไปได้ว่าผมอาจจะรู้ข้อมูลไม่ครอบคลุมเพียงพอ ปัญหาขอทานอาจจะใหญ่และกว้างกว่าที่ผมคิด

จึงถือโอกาสอธิบายเจตนาของตัวเอง และขอความรู้จากคุณเอกซึ่งทำงานด้านนี้โดยตรง

แล้วผมก็ได้คำตอบที่ตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงแห่งมิตรภาพ



4

คุณเอกอธิบายปัญหาให้ฟังว่า การที่เราให้เงินเด็กที่ออกมาขอทานนั้นเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้ผู้ใหญ่ใจร้ายล่อลวงเด็กๆ หรือพาเด็กๆ ออกมาขอทาน

เพราะเขารู้ว่า คนส่วนใหญ่สงสารเด็ก

ที่เราคิดว่าเราช่วยให้เงินเด็กนั้น แท้จริงแล้วเรากลับเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กๆ ต้องมาเป็นขอทานเพิ่มมากขึ้น

เพราะเขารู้ว่ามันได้ผล

คุณเอกยังอธิบายต่อไปอีกว่า ตัวละครที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไม่ได้มีเพียงแค่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องนี้เท่านั้น

แต่ยังมีเด็กขอทาน พ่อแม่ที่พาลูกมาเป็นขอทาน พ่อแม่ที่ขายลูกไปเป็นขอทาน นายหน้าที่คุมเด็กขอทาน

และที่ขาดไม่ได้คือ พวกเรา-คนให้เงินขอทานนี่เอง

ซึ่งคนให้เงินนี่เองที่เป็นตัวละครที่มีจำนวนมากที่สุด กลุ่มใหญ่ที่สุด

จึงเป็นตัวละครที่สำคัญที่สุด

ตราบใดที่คนกลุ่มนี้ยังให้เงินขอทาน เราก็ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ 

คุณเอกบอกว่า วิธีแก้ปัญหาที่ได้ผล และจะช่วยเด็กๆ เหล่านี้ได้มากกว่าการให้เงิน ก็คือการไม่ให้เงิน

คือเปลี่ยนจากการให้เงินมาเป็นหุ้นส่วนของสังคมด้วยการไม่ยอมรับการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการหาผลประโยชน์

ซึ่งน่าจะเป็นการแก้ปัญหาได้ลึกกว่าแค่การให้เงินเด็กด้วยความสงสารเป็นครั้งคราว

คุณเอกยังบอกอีกว่า ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐเอาจริง จะกวาดล้างเด็กขอทานให้หมดประเทศก็ทำได้ 

แต่เด็กขอทานก็จะถูกนำกลับมาใหม่อีกในไม่ช้า ตราบที่การ "ขายความสงสาร" ยังคงเป็นธุรกิจที่ได้กำไรงามจากคนขี้สงสารอยู่ดังเดิม

ตราบที่ยังมีคนให้เงิน

คุณเอกสะกิดเตือนผมว่า เราคงต้องคิดกันให้ลึกว่า 

เงินที่เรา "ให้" นั้น ใครกันแน่ที่ "ได้รับ"



5

ผมเข้าไปขอบคุณคุณเอกที่ให้ความรู้ และชวนคุยต่ออีก ซึ่งคุณเอกก็สละเวลาให้ข้อมูลเพิ่มเติมมาอีกว่า รูปแบบของการพาเด็กมาขอทานในสมัยนี้เปลี่ยนไปจากเดิม

แต่ก่อนอาจจะพาขอทานมากันเป็นคันรถ คนที่พามาอาจจะเป็นนายหน้า บางทีก็ไปเช่าเด็กมา ไปซื้อเด็กมา บางทีก็ลักพาตัวมา บางรายถึงขั้นไปเสนอเงินให้พ่อแม่ของเด็กเพื่อพามาเป็นขอทาน

แต่ช่วงหลัง พอพ่อแม่เห็นช่องทางก็นำเด็กเข้ามาเองเลย

หลายรายก็มาจากนอกประเทศ

เมื่อพ่อแม่พาเด็กเข้ามาหลายรอบ เห็นลู่ทาง ก็กลายร่างไปเป็นนายหน้า ไปพาเด็กคนอื่นๆ ในหมู่บ้านมาเพิ่มอีก

เรื่องที่ซับซ้อนคือ การพิสูจน์ว่าเด็กเป็นลูกคนที่พามาจริงหรือไม่นั้นต้องใช้งบประมาณสูง

ผู้หญิงขอทานที่อุ้มเด็กบางคนพอถูกจับก็อ้างว่าเป็นลูกของเธอ การพิสูจน์ก็ทำได้ยากมากเนื่องจากข้อจำกัดที่ว่านั้น

บางทีก็เป็นแม่ลูกกันจริง แต่แม่แต่งตัวสะอาดสะอ้าน นั่งกินอาหารดีๆ รอลูกอยู่ในที่ร่ม ขณะที่ลูกแต่งตัวมอมแมมนั่งขอทานอยู่กลางแดดร้อนเป็นชั่วโมง

ซึ่งการที่จะจับพ่อแม่เด็กตัวจริงเหล่านี้ก็จะมีปัญหาตามมาอีก เพราะพ่อแม่ที่พาลูกมาขอทานนั้นมีความผิดข้อหาค้ามนุษย์ ติดคุกขั้นต่ำสี่ปี แล้วเด็กจะอยู่กับใคร ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาสังคมที่วนกลับมาอีกรอบหนึ่ง

คุณเอกจึงแนะนำว่า วิธีแก้ปัญหาที่ดีคือ แทนที่เราจะหยิบเศษเงินขึ้นมาเพื่อให้เด็กเหล่านั้นด้วยความสงสาร เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นเด็กต้องนั่งขอทานอยู่ข้างถนน ไม่ว่าลูกใครหรือเด็กชาติใดก็ตาม ให้นำเศษเงินที่จะให้เขาเหล่านั้นมาโทร.แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่เพื่อมาตรวจสอบและช่วยเหลือเด็กน่าจะดีกว่า

อ่านที่คุณเอกอธิบายมาถึงตรงนี้ ผมต้องยอมรับว่า ผมมองเรื่องขอทานง่ายและแคบเกินไปจริงๆ ครับ

จึงบอกกับคุณเอกว่า ถ้ามีโอกาสเมื่อไหร่จะเป็นอีกหนึ่งแรงที่ช่วยเผยแพร่ข้อมูลที่มีประโยชน์เหล่านี้

การได้คุยกับคุณเอกทำให้ผมมองปัญหาขอทานเปลี่ยนไปมาก

จึงอยากนำข้อมูลมาฝากกันครับ

ไม่แน่ เราอาจจะต้องตั้งคำถามกันใหม่

ไม่ใช่ "คุณเคยให้เงินขอทานไหม"

มาเป็น "คุณเคยโทร.แจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อเห็นเด็กต้องมาเป็นขอทานบ้างไหมครับ"


                            

เสียงสะท้อนจากนักวิชาการต่างชาติ หลัง "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" ถูกกองทัพฟ้องร้องในคดีหมิ่นฯ

เสียงสะท้อนจากนักวิชาการต่างชาติ หลัง "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" ถูกกองทัพฟ้องร้องในคดีหมิ่นฯ

วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 22:00:00 น.







(ที่มา  รายงานข่าวของอัจฉรา อัชฌายกชาติ ในเว็บล็อกนิว มันดาลา -นวมณฑล-)


ภายหลังจากนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา กรณีที่กองทัพบกยื่นฟ้องในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่สน.นางเลิ้ง เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีนักวิชาการต่างชาติหลายคนได้แสดงความเห็นในกรณีดังกล่าว ดังนี้


"เควิน ฮิววิสัน" นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนอร์ธ คาโรไลน่า ที่ ชาเปล ฮิลล์ แสดงความเห็นว่า การกล่าวโทษดำเนินคดีต่อนายสมศักดิ์ ถือเป็นการท้าทายคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เคยระบุว่า การวิพากษ์วิจารณ์ในทางวิชาการนั้นถือเป็นสิ่งที่ควรรับฟังอย่างอดทนอดกลั้น


"นายกฯ อภิสิทธิ์จะสามารถให้ความชอบธรรมแก่ปฏิบัติการฟ้องร้องทางกฎหมายที่มีต่อนักวิชาการที่มีชื่อเสียงผู้นี้ได้อย่างไร?" ฮิววิสันตั้งคำถาม


ขณะที่เคร็ก เรย์โนลด์ส นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ตั้งคำถามว่า "ทำไมกองทัพจึงฟ้องร้องดำเนินคดีกับนักประวัติศาสตร์?" และว่า "แม้นี่จะไม่ใช่ครั้งแรกที่กองทัพฟ้องร้องพลเรือน แต่การดำเนินคดีในทุกๆ กรณี ก็ควรจะผ่านการตรวจสอบพิจารณาอย่างรอบคอบรัดกุม" เรย์โนลด์ส กล่าว


นักวิชาการต่างประเทศยังไม่ได้วิตกกังวลกับกรณีของนายสมศักดิ์เพียงเท่านั้น แต่พวกเขายังห่วงใยในกรณีอื่นๆ ที่ทำให้การมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นในสังคมไทยมีพื้นที่ที่หดแคบลง อาทิ การบุกจับสถานีวิทยุชุมชนของคนเสื้อแดง และการจับกุมนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ในฐานะผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112


"บรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบัน  รวมทั้งการดำเนินคดีตามกระบวนการทางกฎหมายและการข่มขู่คุกคามนอกกฎหมาย ได้ส่งผลให้การพูดจาแสดงความคิดเห็นถูกจำกัดพื้นที่ลง ทั้งยังถือเป็นการทำให้ความเห็นต่างในสังคมไทยต้องเงียบเสียงลงด้วย" ไทเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียกล่าวและว่า "นี่จะยิ่งเป็นการสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงขึ้นต่อประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศไทย"