วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน 2553 เวลา 08.30 - 16.30 น. ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ห้องเมจิก 3


โจทย์ต่อไปของอุตสาหกรรมสื่อวิทยุ-โทรทัศน์และโทรคมนาคม
หลังกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่บังคับใช้คืออะไร?

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เตรียมจัดสัมมนา  อุตสาหกรรมสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ และโทรคมนาคมหลังกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่บังคับใช้ : โจทย์ต่อไปคืออะไร?

โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะปาฐกถา “บทบาทด้านสื่อและโทรคมนาคมของรัฐบาล หลังพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่บังคับใช้”

ในการจัดสัมมนาครั้งนี้ จะมีการสรุปสาระสำคัญของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่ ซึ่ง สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติเห็นชอบร่างฯ กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ไปเมื่อวันพุธที่ 10 พ.ย. 53 และ จะนำเข้าที่ประชุมวุฒิสภาในวันจันทร์ที่ 15 พ.ย. 53  เพื่อขอมติ ซึ่งถ้าที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบกฎหมายฉบับดังกล่าวตามมติที่ประชุมสภา ผู้แทนราษฎร ภายใน 6 เดือนหลังกฎหมายฉบับดังกล่าวประกาศบังคับใช้ จะต้องมีการสรรหาคณะกรรรมการ กสทช. จำนวน 11 ท่าน และหลังจากนั้นจะต้องจัดทำแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่และแผนแม่บทประกอบ กิจการฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

เพราะฉะนั้นการจัดเวทีสัมมนาในครั้งนี้จะเป็น เวทีระดมความคิดเห็นและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมาย ฉบับดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ผู้ประกอบการธุรกิจสื่อทุกประเภท รวมทั้งอุตสาหกรรมวิทยุ โทรทัศน์ และ โทรคมนาคม ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรอิสระ ภาคประชาสังคม และประชาชน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับการประกาศบังคับใช้กฎหมายฉบับ ดังกล่าวมองไปข้างหน้าภายหลังจากการประกาศบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวโจทย์ ต่อไปของอุตสาหกรรมสื่อและองค์กรต่างๆ และทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องคืออะไร?

สำหรับประเด็นหลักในการอภิปรายและสัมมนาครั้งนี้คือ เริ่มจากการบรรยาย “ก้าวต่อไปหลังพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่บังคับใช้” โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รอง ประธาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการร่วม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ  ต่อด้วยการเปิดเวทีอภิปรายในหัวข้อ 2G, 3G Wimax และบริการโทรคมนาคมไร้สายจะเดินหน้าต่อไปกันอย่างไร? วิทยากรประกอบด้วย  พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์  คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส, นายธนา เธียร-อัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น,นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น,นายวิโรจน์ โตเจริญวานิช  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายธุรกิจร่วมการงาน บมจ.กสท และ   ดร.กำธร ไวทยกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริการสื่อสารไร้สายและบริการเพื่อสังคม  บมจ.ทีโอที ดำเนินการอภิปรายโดย คุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์   ผู้ดำเนินรายการ คมชัดลึก สถานีโทรทัศน์ เนชั่น แชนแนล และรายการเช้าข่าวข้น โมเดิรน์ไนน์ ทีวี 

ส่วนภาคบ่ายอภิปรายในประเด็น "แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่และแผนแม่บทประกอบกิจการฯ อย่างไรให้เดินหน้ากันได้?" วิทยากรประกอบด้วย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (สพท), นายธนวัฒน์ วันสม  กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อสมท, นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการอำนวยการ บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง, นายวิชิต เอื้ออารีกุล อุปนายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย, นายเจริญ   ถิ่นเกาะแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย,นายต่อพงษ์ เสลานนท์ อนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ กทช. และ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์  รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ดำเนินการอภิปรายโดย คุณก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ บรรณาธิการรายการข่าว สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย และที่ปรึกษาสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอเชิญสื่อมวลชน และผู้สนใจทุกท่านเข้าร่วมสัมมนา ในวันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน 2553 เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ห้องเมจิก 3  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย โทรศัพท์ 02 243 8479, www.thaibja.org / www.newsbroadcastingcouncil.or.th

……………………………………………………
รายละเอียดเพิ่มเติม
นิรมล ประสารสุข  ผู้จัดการฝ่ายวิชาการฯ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
By Niramol Prasansuk   Manager of Academic and Special Affiars Department
THAI BROADCAST JOURNALISTS ASSOCIATION
And Working in The Secretariat as a manager of The News Broadcasting Council of Thailand

กำหนดการงานสัมมนาอุตสาหกรรมสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ และโทรคมนาคม
หลังกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่บังคับใช้: โจทย์ต่อไปคืออะไร?

โดย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน 2553  ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ห้องเมจิก 3
----------------------------------------------------------------------------------------------
ภาคเช้า
08.45 – 09.40 น. ลงทะเบียน

09.40 – 09.45 น. นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวรายงาน

09.50 - 10.20 น. ปาฐกถา “บทบาทด้านสื่อและโทรคมนาคมของรัฐบาล หลังพระราชบัญญัติ
องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่บังคับใช้”
โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี 

10.20 - 10.40 น. บรรยาย “ก้าวต่อไปหลังพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่บังคับใช้”
โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
(ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการร่วม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ

10.40 - 12.40 น. อภิปราย: 2G, 3G, Wimax และบริการโทรคมนาคมไร้สาย จะเดินหน้าต่อไปกันอย่างไร ?

พ.อ.ดร.นที  ศุกลรัตน์  คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ     
นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร  บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส
นายธนา เธียรอัจฉริยะ  รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น
นายศุภชัย เจียรวนนท์   กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น
นายวิโรจน์ โตเจริญวานิช  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายธุรกิจร่วมการงาน บมจ.กสท.
ดร.กำธร ไวทยกุล  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริการสื่อสารไร้สายและบริการเพื่อสังคม  บมจ.ทีโอที

ดำเนินการอภิปรายโดย  
จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์    ผู้ดำเนินรายการ คมชัดลึก สถานีโทรทัศน์ เนชั่น แชนแนล และรายการเช้าข่าวข้น โมเดิรน์ไนน์ ทีวี

12.45 – 13.30 น. พักรับประทานอาหารเที่ยง

ภาคบ่าย
13.40 – 16.30 น. อภิปราย: "แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ และแผนแม่บทประกอบกิจการฯ ร่างอย่างไรให้เดินหน้ากันได้?"
  
   ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ   ผ.อ.สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (สพท)
   นายธนวัฒน์ วันสม  กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อสมท
   นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการอำนวยการ บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง
   นายวิชิต เอื้ออารีกุล  อุปนายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย
   นายเจริญ   ถิ่นเกาะแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย
   นายต่อพงษ์ เสลานนท์  อนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ กทช.
   และ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
   น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์  รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)

ดำเนินการอภิปรายโดย
   ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์  บรรณาธิการรายการข่าว สถานีโทรทัศน์ทีวีไทยและที่ปรึกษาสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  

16.30 น. จบงาน


  



วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน 2553 ตั้งแต่เวลา 8.30-17.30 น. ณ โรงแรมริชมอนด์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี

 กรมการ ค้าต่างประเทศร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทยจัดสัมมนา “รุกตลาดมาเลเซีย...โอกาสมีมากกว่าที่คิด” ในวันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน 2553 ตั้งแต่เวลา 8.30-17.30 น. ณ โรงแรมริชมอนด์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
          นาง สาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า การจัดสัมมนาฯ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยที่มีความสนใจ ในตลาดมาเลเซียซึ่งเป็นตลาด เพื่อนบ้านที่มีศักยภาพสูงที่สุด ได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโอกาสและลู่ทางการค้า/การลงทุน ตลอดจนกฎระเบียบล่าสุดต่างๆของมาเลเซีย โดยมีทูตพาณิชย์และทูตด้านการลงทุนของมาเลเซียประจำประเทศไทยร่วมเป็น วิทยากร นอกจากนั้น ในภาคบ่ายจะมีนักธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจและลงทุนใน ประเทศมาเลเซียร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับผู้เข้าร่วมเข้าสัมมนาอีกด้วย
          รอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของตลาดมาเลเซียว่าเป็น ตลาดใกล้บ้านที่มีกำลังซื้อสูง มีความต้องการสินค้าจากประเทศไทยมาก และถือเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-ก.ย.) จำนวน 5.2 แสนล้านบาทขยายตัวร้อยละ 31.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า นอกจากนั้นมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างกันยังมีมูลค่าสูงถึง 3.76 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งถือว่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีมูลค่าการค้าชายแดนกับไทยสูงที่สุด ส่วนด้านการลงทุนมาเลเซียได้เริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบการลงทุนในหลายสาขาที่ นักลงทุนไทยควรให้ความสนใจ
          ผู้ ที่ประสงค์จะเข้าร่วมการสัมมนาสามารถ Download กำหนดการการสัมมนาและใบสมัครเข้าร่วมการสัมมนาได้ที่ http://www.dft.go.th และส่งใบสมัครได้ทางโทรสารหมายเลข 02 547 4728 ภายในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1385 หรือที่ 02 547 4730-32 ฟรีตลอดงาน !


วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน 2553 เวลา 08.00 น. - 13.00 น. ณ ห้องลาเวนเดอร์ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพฯ

           

 

     "การแลกเปลี่ยนความรู้สู่การสร้างเครือข่ายการประเมินแห่งชาติ" 

     วันพฤหัสบดีที่  25  พฤศจิกายน 2553   เวลา 08.00 น. - 13.00 น.    

 ณ  ห้องลาเวนเดอร์  โรงแรมรามาการ์เด้นท์  กรุงเทพฯ

 

                       สถาบันคลังสมองของชาติ (สคช.)  ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ UNICEF ได้ร่วมมือในการจัดหาแนวทางการ "เสริมสร้างเครือข่ายนักประเมินของประเทศไทย" ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนายกระดับการประเมินในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นกลไกในการปรับปรุงนโยบาย โครงการ แผนงาน และยุทธศาสตร์ของภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์กรเอกชน

 

กรุณาคลิกเพื่อดาวน์โหลดกำหนดการ

 

ติดต่อ  ดร.ปิยะทัศน์ พาฬอนุรักษ์  02 640 0461  ต่อ 114 , piyatat@knit.or.thอีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

หมายเหตุ เนื่องจากจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมสัมมนา กรุณาลงทะเบียนภายในวันที่ 16 พ.ย. 2553 !!!




วันที่ 16-18 ธันวาคม 2553 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ

  ฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ขอเรียนเชิญ อาจารย์ ผู้บริหาร นักวิจัย ผู้ใช้ผลงานวิจัย ผู้ใคร่รู้ว่างานวิจัยมีผลต่อเกษตรกรทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อย่างไรบ้าง หรือเส้นทางที่ประเทศไทยกำลังจะเดินไปสู่อนาคต โดยฝากความหวังไว้กับภาคเกษตร จะมีจุดเสี่ยง โอกาส ความท้าทาย เช่นไร เข้าร่วมประชุมวิชาการ “ความท้าทายงานวิจัยเพื่อพัฒนาภาคเกษตรไทยในอนาคต” ระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2553 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ

 

           ใน วันที่ 16 ธันวาคม 2553 ภาคเช้า เป็นการฉายภาพรวม New Challenges ของภาคเกษตรไทยจากประสบการณ์จริงและตรง โดย ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม จะมาพูดเรื่อง โลกไร้พรมแดน ... ดร.อัทธิ์ พิศาลวาณิช จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะถ่ายทอดประสบการณ์ที่คลุกคลีทำงานวิจัยในกลุ่มประเทศอาเซียน...คุณบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้เชี่ยวชาญประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาวะโลกร้อนกับข้อเสนอการวางแผนตำแหน่ง ประเทศไทย ในเวทีโลก...คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองเลขาธิการสภาหอการค้าไทย ให้มุมมองด้านผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร ดำเนินการอภิปรายโดย คุณกิตติ สิงหาปัด

           กลางวัน รับประทานอาหารพร้อมชมนิทรรศการ

           ภาคบ่าย เปิดประเด็นด้วยนักวิจัยอาวุโสด้านเกษตร ศ.ดร.จรัญ จันทลักขณา ให้แนวคิด แลอดีต...มองอนาคตวิจัยเกษตรไทย เป็นการเชื่อมโยงฐานความรู้ ฐานคิด สู่การเสวนาในช่วงต่อไป ตอบคำถามนักวิจัยว่า เรียนมาด้านการเกษตรจะทำวิจัยอย่างไรดีถึงจะแปลกใหม่ โดนใจแหล่งทุน และมี forward looking

           การ เสวนาช่วงบ่าย จะให้มุมมองว่าจากฐานเกษตร เราจะเชื่อมโยงต่ออะไรได้...อาทิเช่น สร้างอาชีพ ดูแลสุขภาพ สร้างความมั่นคงอาหาร ตอบโจทย์โลกร้อน...เป็นต้น

           ขอเรียนข่าวดีแก่ผู้เข้าร่วมประชุมว่า จะมีการประกาศโจทย์วิจัยเพิ่มเติมด้าน

           1. Thai Fruits-Functional Fruits

           2.  Food security

           วัน ที่ 17 พฤศจิกายน 2553 มีการประชุมวิชาการและเสวนาอีก 7 ห้อง ทั้งหมดไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องลงทะเบียนเข้าประชุมล่วงหน้า เพื่อรับเอกสารการประชุม และหนังสือ 2 เล่มคือ โอกาสและทางเลือกของเกษตรกรบนเส้นทางสายโซ่อุปทาน (300 หน้า) และ ประเด็นท้าทายข้อเสนอเชิงนโยบาย และการเกษตรของไทย เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (60หน้า) ดูรายละเอียดได้ที่ www.trf.or.th

 

 

 ดาวน์โหลดกำหนดการประชุม

 ดาวน์โหลดหลักการและเหตุผล

 ดาวน์โหลดแผ่นพับงานประชุม

ดาวน์โหลดแบบตอบรับทั่วไป 

ดาวน์โหลดแบบตอบรับห้องโคเนื้อ 

ดาวน์โหลดเอกสารโอนเงินผ่านทางธนาคาร  

 

 

สอบถามข้อมูล และส่งแบบตอบรับได้ที่

สำนักประสานงานวิจัยและพัฒนา “สัตว์น้ำ และการพัฒนาพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี” ภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 50 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

 

โทรศัพท์ 02-942-8644-5 กด 19 โทรสาร กด 12 หรือ 27

 

E-mail : ffisptw@gmail.com  

ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553

 

 

 

 

 

ที่มา : คุณกัญจพร (ฝ่ายเกษตร สกว.)



 

วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 อย่างเร่งด่วน

เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 อย่างเร่งด่วน

Posted by Asina Pornwasin

ตั้งแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ) ยังไม่ถูกประกาศใช้ เครือข่ายพลเมืองเน็ตได้แสดงจุดยืนเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้มาตลอด ด้วยเล็งเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้มีผลในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ทั้งยังขัดกับคุณลักษณะของอินเทอร์เน็ตในหลายแง่มุม ซึ่งสร้างผลกระทบในการบังคับใช้ หากแต่ภาครัฐกลับมิได้กระตือรือร้นและจริงจังในการแก้ไขกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพของประชาชนฉบับนี้

นอกจากนี้ ระหว่างสถานการณ์ทางการเมืองที่แหลมคมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายพลเมืองเน็ตพบว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ โดยเฉพาะมาตราที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ มาตรา 14 และ 15 ถูกใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานกับผู้ที่คิดต่างทางการเมือง หรือคิดต่างจากรัฐบาล ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนได้แก่ กรณีการจับกุมและตั้งข้อหาร้ายแรงกับ
จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท (http://www.prachatai.com) ถึงสองคดี

**กรณีการจับกุมโดยกองบังคับการปราบปราม**

ในคดีแรกนั้น ตำรวจได้ตั้งข้อหากับจีรนุชว่ามีความผิดตามมาตรา 15 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ คือเจตนาจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีข้อความที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ปรากฎอยู่ในเว็บบอร์ดประชาไท

อย่างไรก็ตาม **_ข้อความดังกล่าวได้ถูกลบออกจากระบบแล้วเป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะมีการจับกุม_** ภายหลังจากที่จีรนุชได้รับจดหมายจากกองบังคับการปราบปราม ซึ่งแสดงถึงเจตนาของจีรนุชว่ามิได้จงใจสนับสนุนการ กระทำผิดดังกล่าว นอกจากนี้ ระยะเวลา 20 วันที่ตำรวจกล่าวอ้างว่าเป็นการ “จงใจ สนับสนุน หรือยินยอม” ก็ยังไม่ได้มีกำหนดอยู่ในกฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงตัวเลขที่ปรากฎในบันทึกของตำรวจหลังจากที่มีการจับกุมแล้วเท่านั้น

**กรณีการจับกุมโดยตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่นและตำรวจตรวจคนเข้าเมือง**

ส่วนในคดีที่สอง ตำรวจภูธรอำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่นได้ขอให้ศาลจังหวัดออกหมายจับจีรนุชตามการเข้าแจ้งความของ สุนิมิต จิระสุข[^1] ผู้อ่านเว็บไซต์ประชาไทแล้วพบว่าที่ท้ายบทสัมภาษณ์ โชติศักดิ์ อ่อนสูง (ผู้ปฏิเสธที่จะยืนในโรงภาพยนตร์ระหว่างเพลงสรรเสริญพระบารมี)[^2] ซึ่งเปิดให้ผู้อ่านทั่วไปสามารถโพสต์ความคิดเห็นได้ มีผู้อ่านบางคนโพสต์ความเห็นในทางที่เห็นด้วยกับการกระทำของโชติศักดิ์ สุนิมิตจึงได้แจ้งความดำเนินคดีกับจีรนุชซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการเว็บไซต์และผู้ดูแลเว็บบอร์ดประชาไท ด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรงจำนวนมาก ดังนี้

- ร่วมกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งว่าด้วยการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ฯ
- ร่วมกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งว่าด้วยการเผยแพร่ข้อความยุยงส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความกระด้างกระเดื่องและละเมิดกฎหมาย
- กระทำความผิดตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ซึ่งว่าด้วยการเผยแพร่ข้อมูลประเภทต่าง ๆ ที่เป็นความผิดตามกฎหมายข้างต้น
- และมาตรา 15 ซึ่งว่าด้วยการจงใจสนับสนุนให้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดกฎหมายตามมาตรา 14

ศาลขอนแก่นได้อนุมัติหมายจับจีรนุชตามข้อหาที่สุนิมิตแจ้งความมาทั้งหมด ทั้งนี้ ข้อความที่ตำรวจกล่าวหาว่าผิดกฎหมายนั้นเป็นข้อความตามที่สุนิมิตกล่าวอ้าง และปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ประชาไทเป็นเวลาเพียง 1 - 5 วันก่อนที่สุนิมิตจะเข้าแจ้งความ

ในกรณีนี้ **_กองบรรณาธิการประชาไทได้พิจารณาลบข้อความบางส่วนด้วยตนเองไปแล้ว ไม่นานหลังพบข้อความ_** แสดงถึงเจตนาของทีมงานที่ไม่ได้จงใจหรือสนับสนุนให้มีการกระทำความผิด และพร้อมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เมื่อได้รับการร้องขอเช่นกัน

**ข้อบกพร่องของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ**

คดีของจีรนุชชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 ดังนี้

_1. ภาระของ “ท่อ”_

มาตรา 15 ปฏิบัติกับผู้ให้บริการ หรือ “ตัวกลาง” (intermediary: เช่น ศูนย์ข้อมูล ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เสิร์ชเอนจิน โซเชียลเน็ตเวิร์ก เว็บบอร์ด บล็อก) เสมือนหนึ่งเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ผู้มีทั้งหน้าที่และความสามารถในการคัดกรองเนื้อหาทั้งหมดก่อนตีพิมพ์ แต่คุณลักษณะที่สำคัญที่ทำให้อินเทอร์เน็ตมีประโยชน์เช่นทุกวันนี้คือ ข้อมูลทุกอย่างไหลผ่านอย่างรวดเร็ว ตัวกลางจึงเป็นเพียง “ท่อข้อมูล” หรือช่องทางผ่านของเนื้อหาเท่านั้น (mere conduit) หากผู้บังคับใช้กฎหมายไทยจะถือว่าตัวกลางต้องรับผิดชอบต่อข้อมูลและเนื้อหาทั้งหมดที่ผ่านตัวกลางแล้ว นั่นย่อมหมายความว่า ตัวกลางจะต้องกลั่นกรองข้อมูลทั้งหมดก่อนการเผยแพร่ ซึ่งด้วยความเร็วและปริมาณข้อมูลจำนวนมาก สิ่งดังกล่าวยากที่จะทำให้เป็นไปได้ โดยไม่กระทบกับการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต

_2. ท้องที่เกิดเหตุ “ทั่วราชอาณาจักร”_

มาตรา 15 อ้างถึงความผิดอาญาตามมาตรา 14 โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลที่ก่อให้เกิด “ความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา” ซึ่งรวมถึงความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ การเป็นความผิดอาญาทำให้บุคคลใดก็ได้สามารถแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ และการเข้าถึงจากที่ใดก็ได้ของเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต ทำให้การแจ้งความเป็นไปได้จากทุกพื้นที่ ซึ่งเปิดโอกาสให้กฎหมายฉบับนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกันได้ เช่นเดียวกับที่มีการใช้ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาไปแจ้งความในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อสร้างความยากลำบากแก่ผู้ถูกฟ้องโดยไม่มีเหตุอันควร[^3]

_3. ตัวกลางกลายเป็น “แพะ”_

ในการดำเนินคดีกับ “ตัวกลาง” ดังเช่นในคดีของจีรนุชทั้งสองคดีนั้น ยังไม่มีการตัดสินโดยศาลว่าข้อความที่ถูกแจ้งนั้นเป็นข้อความที่ผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฎว่ามีผู้โพสต์ข้อความเพียงรายเดียวที่ถูกดำเนินคดี และคดียังไม่สิ้นสุด ซึ่งในกระบวนการสอบสวนเกี่ยวกับผู้โพสต์รายนี้นั้น เว็บไซต์ประชาไทได้ให้ความร่วมมือตามที่กฎหมายกำหนดทุกอย่าง สำหรับผู้โพสต์ข้อความอื่น ๆ รัฐต้องไม่พยายามเอาผิดกับตัวกลาง เมื่อได้รับความร่วมมือแล้วแต่ไม่สามารถหาผู้กระทำผิดตัวจริงได้

_ภาระในการปฏิบัติตามกฎหมายและต่อสู้คดีที่ต้องใช้ทรัพยากร รวมถึงเวลาเดินทางอันยาวนาน ประกอบกับการที่เจ้าหน้าที่รัฐมุ่งเน้นการจับกุมตัวกลาง ทำให้ตัวกลางต้องแบกรับภาระความเสี่ยงเกินสัดส่วนที่สมเหตุผล นำไปสู่แนวโน้มที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองเกินความจำเป็น โดยยึดหลัก “ลบเกินไว้ก่อนปลอดภัยกว่า” หรือกำจัดภาระทั้งหมดโดยการยกเลิกพื้นที่สำหรับเนื้อหาที่ผู้ใช้ผลิตเอง (user-generated content) เช่นการปิดบริการเว็บบอร์ด ซึ่งสร้างผล กระทบกับผู้ใช้จำนวนมากที่ไม่ได้กระทำความผิด_

_เราต้องไม่ลืมว่าโครงการเช่น วิกิพีเดีย และซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สต่าง ๆ ล้วนเกิดขึ้นได้เพราะคุณลักษณะของอินเทอร์เน็ตที่เป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้ผู้อ่านสร้างเนื้อหาได้เอง อย่างรวดเร็ว จากทุกสถานที่ แต่การควบคุม จำกัดสิทธิ และบีบพื้นที่ตัวกลางลง เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการสร้างสรรค์นวัตกรรม จะทำให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์_

**ข้อยกเว้นความรับผิด (Safe Harbour)**

ในประเทศที่กฎหมายเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะมีการกำหนดข้อยกเว้นความรับผิด (safe harbour) หรือการถือว่าตัวกลางเป็นผู้บริสุทธิ์โดยปริยายในขณะที่ยังไม่สามารถพิสูจน์เจตนาการกระทำความผิดได้ เนื่องจากตัวกลางคือพื้นที่ที่โดยปกติไม่มีส่วนรู้เห็น หลักการนี้จึงมีไว้เพื่อคุ้มครองตัวกลางจากภาระทางกฎหมายที่ไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม หลักการนี้ไม่ได้ให้เสรีภาพแก่ตัวกลางจนเกินขอบเขต เนื่องจากเจ้าหน้าที่สามารถแจ้งตัวกลางเมื่อพบเนื้อหาที่เป็นความผิด และขออำนาจศาลเพื่อสั่งให้มีการลบเนื้อหานั้นได้ (notice and take down) ทั้งนี้ต้องเป็นไปในระยะเวลาที่เหมาะสม[^4]

**ข้อเสนอการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ**

ข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า การบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 15 ในปัจจุบัน เป็นไปในลักษณะคุกคามเพื่อบีบพื้นที่ _“ตัวกลาง”_ อันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เกิดการสื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

เครือข่ายพลเมืองเน็ตจึงเห็นว่า มาตรา 15 ของกฎหมายฉบับนี้ เป็นบทบัญญัติที่คุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างยิ่ง จึงเสนอให้พิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ดังนี้

1. พิจารณาและปฎิบัติกับ “ตัวกลาง” ในฐานะที่เป็นเพียงทางผ่านของข้อมูล (ท่อ) หรือเป็นเพียงที่พักข้อมูลแบบอัตโนมัติ (cache/buffer) และเข้าใจถึงธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตที่ข้อมูลไหลผ่านตัวกลางอย่างรวดเร็ว _จนไม่อาจกลั่นกรองหรือควบคุมได้ในทางที่คุ้มค่าและไม่ก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์_

2. ถือว่าตัวกลางนั้นบริสุทธิ์โดยปริยาย (by default) โดยตระหนักว่าตัวกลางนั้นเป็นเพียงทางผ่านของข้อมูลเท่านั้น จนกว่าจะมีหลักฐานให้เชื่อได้ว่า ตัวกลางมีเจตนาสนับสนุนหรือสมรู้ร่วมคิดในการกระทำความผิด และจึงนำมาสู่การพิสูจน์ในชั้นศาล

3. หากศาลยังไม่ตัดสินว่า ข้อความที่เป็นปัญหานั้นผิดกฎหมายจริง และ/หรือ ผู้กระทำการตามมาตรา14 (ผู้โพสต์ข้อความ) มีความผิดจริง จะยังเริ่มดำเนินคดีกับตัวกลางตามมาตรา 15 ไม่ได้

4. หากศาลตัดสินแล้วว่า ตัวกลางมีเจตนากระทำความผิดจริง โทษที่ตัวกลางต้องรับ จะต้องมีการแยกแยะแตกต่างหนักเบา ระหว่าง ทำเอง, สนับสนุน, ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ตามหลักสัดส่วน

5. ต้องมีการบัญญัติข้อกำหนดลายลักษณ์อักษรเป็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ว่าด้วยหลักการแจ้งลบข้อความที่ผิดกฎหมาย (notice and takedown procedure) เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัย (safe harbour) ให้กับตัวกลาง เช่น เมื่อผู้ดูแลเว็บได้รับจดหมายจากเจ้าหน้าที่ว่ามีข้อความผิดกฎหมาย แล้วไม่ลบภายในเวลาอันสมเหตุผลตามที่กำหนด จึงอาจถูกพิจารณาว่ามีความผิด

เครือข่ายพลเมืองเน็ต ขอเรียกร้องให้รัฐบาลซึ่งนำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสาธารณะ พิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 และมาตราที่เกี่ยวข้อง ตามที่ได้เสนอมานี้ โดยทันที เพื่อระงับมิให้กฎหมายนี้กลายเป็นเครื่องมือในการคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมืองและลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนไทย ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เพื่อเสรีภาพออนไลน์
เครือข่ายพลเมืองเน็ต
17 ตุลาคม 2553

[^1]: [http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9510000049421](http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9510000049421)
[^2]: [http://www.prachatai.com/node/16466](http://www.prachatai.com/node/16466)
[^3]: เช่นกรณีที่ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ฟ้องหมิ่นประมาท พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร ที่จังหวัดปัตตานี จากบทความของ พล.ต.อ. วสิษฐ ในหนังสือพิมพ์มติชน
[^4]: อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องข้อยกเว้นความรับผิดได้จากบทความแปลโดยเครือข่ายพลเมืองเน็ต [“ภาระรับผิดทางกฎหมายของตัวกลาง: ปกป้องพื้นที่อินเทอร์เน็ตเพื่อส่งเสริมการแสดงออกและสร้างสรรค์นวัตกรรม”](http://thainetizen.org/node/2378)

http://www.itpc.or.th/

--